activities

มายาคติจากบทเพลงรักพื้นบ้าน ถักทอขับขาน สู่นิทานความรัก

ฉมามาศ แก้วบัวดี , ณัฐธนาวุฒิ สุขดี , ฐิตาภรณ์ บุญอุ้มชู , ภาวิตชญาน์ ใจอ่อนน้อม


ชุมชนแม่ออกฮู ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก คือชุมชนหนึ่งซึ่งมีขนาดกลาง ทว่าห่างไกลจากพื้นที่ ที่พวกเราต่างคุ้นเคย การเดินทางลงพื้นที่สำรวจชุมชนที่ผ่านมาทำให้ข้าพเจ้าเห็นว่ายิ่งเราเผชิญความไม่คุ้นเคยมากเท่าไหร่ เราจะไม่ประมาทต่อสิ่งที่คุ้นเคยมากยิ่งขึ้น กล่าวคือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงานต่างพื้นที่และต่างวัฒนธรรม ที่พวกเราจะต้องเผชิญกับความไม่คุ้นเคยมากมาย นั่นคือโอกาสที่ทำให้เราต้องละเอียดละออกับบางสิ่งที่เราคิดว่าคุ้นเคยมากยิ่งขึ้น เช่นการเข้าไปศึกษาชุมชนที่มีความหลากหลายจากวัฒนธรรมทำให้เราต้องหันมารู้จักการตั้งคำถามที่แตกต่างไป โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของบริบททางวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างและหลากหลาย การลงพื้นที่ในคราวนี้ประกอบไปด้วยกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่มีความคุ้นเคยกับกิจกรรมและชุมชนเป็นพื้นฐาน และบางส่วนที่กำลังเผชิญความไม่คุ้นเคยเข้าอย่างจัง

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนจุฬา - ธรรมศาสตร์ 3 ตั้งอยู่ท่ามกลางภูเขา และโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอย่างแท้จริง การพึ่งพาอาศัยกันคือสิ่งหนึ่งที่ค้ำจุนความเป็นชุมชนของที่นี้ เช่นเดียวกับความเป็นไปของโลกใบนี้ ไม่มีสิ่งใดที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวและไร้ที่มา เรื่องเล่า ดนตรี ภาษา วัฒนธรรมล้วนมีที่มาที่ไปที่แตกต่างกันทั้งนั้น บทเพลงร้อยเรียงท่วงทำนองและเรื่องราวสู่ผู้ฟังเพื่อดึงความสนใจร่วม เช่นเดียวกับนิทานที่บอกถึงการมีอยู่ของเรื่องราวและประวัติศาสตร์ สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอัตลักษณ์ บอกเล่าถึงการมีอยู่และเกี่ยวข้องในบางส่วนของช่วงเวลาบนโลกใบนี้

เช้าวันที่ 24 ตุลาคม 2562 วันแรกในการเริ่มต้นกิจกรรมค่ายอักษร - ศิลป์ ปีที่ 3 การลงพื้นที่สำรวจุมชนและการทำกิจกรรมสันนาการร่วมกับนักเรียนในพื้นที่ เช่นกิจกรรมเปายิงฉุบพระราชาและเกมที่เน้นการทำกิจกรรมเป็นกลุ่มเพื่อสร้างความคุ้นเคยระหว่างนักเรียนและทีมงานอักษร - ศิลป์ ที่อบอวลไปด้วยดนตรีที่คอยสอดรับประสานอันเป็นเสน่ห์ของค่ายอาสาสมัครนี้ อีกทั้งกิจกรรมอื่น ๆ ที่ได้ถูกออกแบบไว้เพื่อจะได้ทำความรู้จักน้อง ๆ ที่มีความยืดหยุ่นให้เหมาะกับบริบทของกิจกรรมและสภาพแวดล้อมด้วย

จากการทำกิจกรรมคือการเดินทางลงชุมชน คือการค้นหาของในกล่องใบใหญ่ เราเริ่มจากการตั้งหัวเรื่องที่จะลงไปเก็บข้อมูลในชุมชนที่เกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรมในชุมชน การตั้งคำถามเป็นกระบวนการหนึ่งที่สำคัญเป็นอย่างมากเพราะความแวดไวทางวัฒนธรรม (cultural sensitivity) เป็นสิ่งหนึ่งที่เราควรให้ความสำคัญในการลงพื้นที่เก็บข้อมูล ปัญหาและอุปสรรคคือการเรียนรู้และแก้ไขโดยศึกษาจากการลงพื้นที่ในกิจกรรม ปีที่ 2 อาทิ

ปัญหา ในด้านการใช้ภาษาซึ่งเป็นสื่อกลางในการใช้เก็บรวบรวมข้อมูล

วิธีการแก้ไขปัญหา การบันทึกเสียงการสัมภาษณ์ และการให้นักเรียนในพื้นที่ทำหน้าที่เป็นล่ามในการแปลภาษาระหว่างการเก็บข้อมูลดังกล่าว

การลงพื้นที่ภาคสนามเพื่อเก็บข้อมูลในครั้งนี้พวกเราต่างรับรู้ได้ถึงความหลากหลายอันมหาศาลตามจินตนาการที่มนุษย์นั้นประดิษฐ์ขึ้น อาทิเช่นเรื่องเล่าและบทประพันธ์ รวมไปถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งผลอันเนื่องมาจากความหลากหลายของแบบแผนทางพฤติกรรมมนุษย์​ คือองค์ประกอบหลักของสิ่งที่เราเรียกว่า ‘วัฒนธรรม’ (แฮรารี, 2561) เมื่อวัฒนธรรมปรากฎขึ้นก็ไม่เคยหยุดเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเลย ดังเช่นบางบทประพันธ์ที่กำลังหายไปจากความเมินเฉยในปัจจุบัน รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนขั้นตอนในประเพณีตามยุคสมัยการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้นี้เองคือสิ่งที่เราเรียกว่า ‘ประวัติศาสตร์’ คณะอักษร - ศิลป์ ลงภาคสนามเพื่อสำรวจประเพณี ซึ่งเป็นความงามที่ต่อไปหากเรื่องดังกล่าวนี้ยังถูกเป็นที่สนใจไม่ว่าจะกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่งนั้นถือเป็นเรื่องน่ายินดี และถือว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็น ณ ช่วงเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์ ที่ได้มีการจดบันทึก

บทประพันธ์เพลงคือเสียงที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาผ่านการจัดวาง เป็นสภาพสะท้อนในการมองและประสบการณ์ของแต่ละบุคคล เราอาจนึกถึงเพลงเศร้าเมื่อเรามีอารมณ์เศร้า และอาจสามารถเขียนเพลงแสดงความยินดีได้เมื่อมีความสุขล้นปรี่ จากการลงเก็บข้อมูลบทประพันธ์ที่ชาวบ้านนิยมร้องอันได้แก่ “เพลงรัก” ในแต่ละรูปแบบผ่านประสบการณ์ครั้นเมื่อมีความรัก และประดิษฐ์ถัดทอท่วงทำนองที่ไพเราะที่แสดงให้เห็นถึงดนตรีที่น่าพิสมัย บทประพันธ์หลากหลายบทเพลงถูกขับร้องพร้อมกันกับการบรรเลงบนเครื่องดนตรี “เตหน่า” เสมือนบทพูดที่มีดนตรีเป็นเพียงลมอยู่เบื้องหลัง ขุนเขาและเมฆหมอก บทประพันธ์ที่พ่อเฒ่า นามภานุ และแม่เฒ่าผู้เป็นภรรยา นามช่วยพอ เวียงเชิดศักดิ์ ที่ให้การสัมภาษณ์ ในวันนี้พ่อเฒ่ากล่าวว่าเป็นเพลงร้องที่ไม่มีดนตรีประกอบ บทประพันธ์เสมือนการพูดแต่มีท่วงทำนองที่น่าสนใจ บทประพันธ์นี้ถึงแม้จะไม่มีเครื่องดนตรีประกอบแต่สามารถร้องเป็นเสียงผสานจากผู้ชายและผู้หญิงร้องด้วยกันทำให้สีสันของบทประพันธ์มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ดังรูปที่ 9

พ่อเฒ่าได้กล่าวไว้ว่าบทประพันธ์ดังกล่าวเป็น “เพลงรัก” ซึ่งบอกเล่าถึงความรักของชายผู้หนึ่งที่มีต่อผู้หญิงอันเป็นที่รัก และได้กล่าวเกี่ยวกับเพลงนี้ว่าเป็นบทประพันธ์ที่ใช้ร้องในวันแต่งงานของทั้งสอง แต่ก่อนที่จะถึงพิธีแต่งงานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ในขณะเดียวกันก็แฝงไปด้วยพลังยิ่งใหญ่แห่งความรักที่แสดงให้เห็นถึงความเรียบง่ายและอบอุ่น ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขนบธรรมเนียมประเพณี เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างมีใจให้กันและศึกษาดูใจกันเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว พิธีแต่งงานนั้นจะต้องมีการนัดญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายมาพบและทำความรู้จักกัน โดยฝ่ายชายจะต้องไปค้างแรมที่บ้านฝ่ายหญิงเป็นจำนวน 3 คืน ในขณะเดียวกันฝ่ายหญิงก็จะต้องไปค้างแรมที่บ้านฝ่ายชายเป็นจำนวน 3 คืนเช่นเดียวกัน โดยมีการผูกข้อไม้ข้อมือ การฉลองแต่งงานจะถูกจัดขึ้นที่บ้านเจ้าสาว กอปรกับการประกอบเลี้ยงอาหารมากมาย และมัดข้อมือโดยญาติฝ่ายหญิง และมอบสินสอด อีกทั้งยังมีประเพณีมอบน้ำสังข์กันเป็นลำดับถัดมา

เมื่อจบการสัมภาษณ์ผู้เฒ่าและแม่เฒ่าได้ให้ความกรุณาแก่คณะสวมชุดที่ใช้ในวันงานแต่งงานให้ชมโดยการแต่งกายทั้งฝ่ายชายและหญิงเป็นเครื่องแต่งกายท้องถิ่นที่ปักเย็บกันขึ้นมาเอง โดยสามารถสวมทับกับชุดลำลองปกติได้

การเก็บรวบรวมข้อมูลจากการให้คำสัมภาษณ์นั้น ข้อมูลดังกล่าวได้ถูกรวบรวมและนำมาสู่การนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ของคณะอักษร - ศิลป์ เพื่อน้องฯ ผ่านชุดการแสดงที่เกี่ยวกับเพลงรักพื้นบ้าน ทักทอขับขาน นิทานความรัก โดยงานสร้างสรรค์ชิ้นนี้เป็นลักษณะของละครชุมชน (community theatre) โดยได้รับแรงบันดาลใจจากบทประพันธ์ต่าง ๆ ที่ได้เก็บข้อมูลใช้ในระหว่างการทำกิจกรรมกับนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม โดยบทละครนั้นมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักของหนุ่มสาวและพิธีแต่งงาน โดยมีความคิดว่าความรักและเพลงรักนั้นเป็นเรื่องสากลบทประพันธ์ที่ใช้สำหรับการแสดงจึงเป็นการผสมผสานกับบทประพันธ์อื่นๆนอกเหนือจากภาษาปกาเกอะญอที่ยังมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับความรักเช่นเดียวกัน โดยทางทีมงานอักษร - ศิลป์ ฯ ได้มีการนำมาบันทึกและเรียบเรียงสำหรับการแสดงดังกล่าว ขั้นตอนการดำเนินงานหลังจากการลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลนั้นคือการบันทึกโน้ตเป็นระบบสากลเพื่อใช้สำหรับการเก็บข้อมูลและศึกษาต่อไป รวมไปถึงการฝึกซ้อมการแสดงและการร้อง นอกเหนือจากเพลงรักที่ได้จากการลงพื้นที่ชุมชนแม่ออกฮูแล้ว บทประพันธ์อื่น ๆ ที่ใช้สำหรับการนำเสนอผลงานได้แก่ เพลงสวัสดี และแก้มน้องนางนั้นแดงกว่าใคร เดิมทีขับร้องโดยศิลปินเขียนไขและวานิช การจัดเรียงบทประพันธ์ให้สอดคล้องกับเรื่องราวของละครที่สื่อกล่าวถึงประเพณีการแต่งงาน อีกทั้งการทำงานในฝ่ายเทคนิคซึ่งรวมไปถึงการเก็บภาพนิ่งและวิดิโอในระหว่างการเก็บข้อมูลเพื่อนำไปสู่เนื้อหาเชิงสารคดีเพื่อใช้ในการนำเสนอประกอบผลงานบางส่วน

การจัดวางลำดับการแสดงนั้นขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยได้แก่ด้านบทละครและบทประพันธ์ โดยเนื้อเรื่องได้กล่าวถึงการพบปะของผู้ชายและผู้หญิงคู่หนึ่ง เกิดความรักและผูกพันซึ่งกันและกัน ฝ่ายชายเกิดความหลงรักในตัวหญิงสาวมากและมักเอาอาหารและขนมไปให้ฝ่ายหญิงที่บ้านเสมอ จนครบ 1 ปี ทางบ้านและเพื่อนฝ่ายหญิงแต่สงสัยว่าใครกันที่เป็นคนเอาขนมมาให้เพื่อนของเธอ จนฝ่ายชายมาสารภาพรักและขอแต่งงานฝ่ายหญิง บทประพันธ์เริ่มจากเพลง “สวัสดี”

บทเพลงเปิดการแสดงขึ้นด้วยเพลงสวัสดี เพื่อเป็นการทักทายผู้ชม เพลงดังกล่าวถูกร้องขึ้นก่อนการพบกันครั้งแรกระหว่างฝ่ายชายและหญิง โดยมีน้องนักเรียนในประถมต้นบางส่วนร่วมร้องประกอบท่าเต้นพื้นฐานในบทประพันธ์ดังกล่าว ในกระบวนการดังกล่าวถึงแม้จะมีอุปสรรคเล็กน้อยใจการควบคุมนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น เนื่องจากปัญหาในเรื่องสมาธิและความซุกซนตามวัยในการดำเนินกิจกรรม แต่อุปสรรคดังกล่าวสามารถคลี่คลายได้ด้วยการวางแผนการซ้อมให้สอดคล้องกับเวลาพักผ่อน เพื่อที่จะให้นักเรียนกลุ่มดังกล่าวมีสมาธิในการดำเนินกิจกรรมมากยิ่งขึ้น และได้มีการใช้เพลง “เป็นวงกลม” เพื่อเป็นเหมือนข้อตกลงในการดึงความสนใจให้กลับมาโดยการจับกลุ่มกับเพื่อน ๆ ให้เป็นวงกลมอีกครั้งตามชื่อบทประพันธ์

บทประพันธ์ของศิลปินเขียนไขและวานิชดังกล่าวมีเนื้อหาที่ใกล้เคียงกับการแอบรักแอบมองอยู่ห่าง ๆ บทประพันธ์นี้จึงถูกหยิบยกมาใช้ในช่วงกลางตอนเนื้อเรื่อง ในขณะที่ฝ่ายชายแอบมีใจให้กับฝ่ายหญิงเพื่อสื่อถึงความรักที่กำลังเริ่มที่จะพลิบาน ก่อนที่ทั้งสองจะได้ครองรักกันอย่างมีความสุข

สืบเนื่องการลงพื้นที่และทำกิจกรรมดังกล่าว ได้มีการเสนอข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ได้แก่ การลงพื้นที่สำรวจในเรื่องอื่น ๆ ในชุมชนเพื่อพัฒนาสิ่งที่่มี และหาลู่ทางแก้ไขในสิ่งที่ขาดเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในชุมชน เพื่อการดำเนินงานของค่ายอักษร - ศิลป์ ในครั้งต่อไปมีความหลากหลาย สามารถสร้างประโยชน์และเข้าถึงชุมชนได้มากยิ่งขึ้น

การดำเนินงานในช่วงระยะเวลาดังกล่าว พบว่า การเรียนรู้ทั้งสองทางกล่าวคือมิใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้สอนและผู้เรียน แต่เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ที่มีซึ่งกันและกันจากการร่วมมือร่วมใจกันระหว่างนักเรียน นักศึกษา ศิษย์เก่าค่ายอักษร - ศิลป์ ปีที่ 1 และ 2 อาจารย์และเจ้าหน้าที่จากสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง แม้กิจกรรมดังกล่าวจะมีเวลาในการดำเนินกิจกรรมเพียงช่วงระยะเวลาที่ไม่ยาวนานมากนัก กิจกรรมดังกล่าวมุ่งเน้นเกี่ยวกับประสบการณ์ในเรื่องการลงพื้นที่ชุมชนและการทำงานร่วมกัน ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นนั้นเป็นทักษะหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาทักษะตนเองทั้งในจุดแข็งและจุดอ่อน การสื่อสารและการตั้งคำถามในระหว่างการสัมภาษณ์นั้น ความชัดเจนในคำถามเป็นสิ่งสำคัญ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องอาศัยความเข้าใจและเคารพในวัฒนธรรมที่แตกต่าง ถึงแม้จะมีอุปสรรคในเรื่องของภาษาแต่การได้รับความร่วมมือที่ดีจากนักเรียนและผู้คนในพื้นที่ทำให้พวกเรารับมือกับเรื่องดังกล่าวได้เป็นอย่างดีมากขึ้น ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในค่ายก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ การเปิดรับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน เป็นโอกาสที่ทำให้เราได้เรียนรู้ความคิดเห็นของผู้อื่นและพัฒนาตนเองในฐานะผู้ฟังมากยิ่งขึ้น จากการทำกิจกรรมที่ผ่านมาทำให้ ข้าพเจ้าตระหนักว่าพวกเราทุกคนนั้นล้วนแต่เป็นผู้ฟังเสมอตราบใดเราตระหนักว่าเรานั้นยังเป็นมนุษย์ซึ่งล้วนสามารถพัฒนาได้ จินตนาการนั้นเกิดขึ้นเสมอ ตราบใดที่พวกเรานั้นมิได้มองสิ่งหนึ่งเป็นเพียงแค่หนึ่ง เช่นเดียวกับวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นที่ห่อหุ้มไปด้วยประสบการณ์และจินตนาการไม่รู้จบ การเปิดใจให้กับสิ่งอื่น การสำรวจและพัฒนาตนเองอยู่เสมอล้วนคือปัจจัยหนึ่งในการเริ่มต้นให้เกิดความยั่งยืนไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง