activities
เตหน่าบรรเลง บทเพลง ชุมชน รังสรรค์ ตราตรึง
มานิกา คำแก้ว , ณณภร ถาวรประชา , ธรณ์ ทักษิณวราจาร
ยามเช้า หมอกจาง ๆ สีขาวกลืนกินปลายยอดของทิวเขาเขียวขจีที่ตั้งตระหง่านเรียงเเถวกันเป็นทิวไสว เสียงนกธรรมชาติแลกเปลี่ยนเพลงแสนหรรษา ปลุกพวกเราชาวค่ายให้ตื่นจากนิทราในห้องเรียนบนดอยที่ถูกแปรเปลี่ยนเป็นที่พักนอนชั่วคราวของกลุ่มคนอาสา ที่หัวใจเต็มเปี่ยมด้วยความมุ่งหวังในการพัฒนา และสร้างประสบการณ์ให้การกลับมาในครั้งนี้น่าประทับใจทั้งต่อตัวอาสาสมัครและบุคคลที่ร่วมกันเรียนรู้จากชุมชนที่เราก็ต่างเป็นทั้งสองบทบาทนี้ในโอกาสและเวลาที่ต่างกัน เกิดการแลกเปลี่ยน ทั้งรับ-และให้ซึ่งกันและกันด้วยหัวใจอันผูกพันและเปี่ยมไปด้วยความรักและความสุข ในค่ายแห่งนี้
กลุ่มเด็กนักเรียนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จุฬา - ธรรมศาสตร์ 3 ที่รอการกลับมาของคณะอักษร - ศิลป์ เพื่อน้องฯ นักเรียนอยู่ตามบริเวณรอบ ๆ โรงเรียนด้วยแววตาที่สดใส เปี่ยมไปด้วยความสุขใจและสงสัยใครรู้ “ครั้งนี้ พวกพี่ ๆ จะมาสอนเพลงอะไรให้เราอีกนะ” เด็ก ๆ คงคิด เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจและน่าประทับใจในเวลาเดียวกัน แม้เวลาจะผ่านมาแล้วถึง 3 ปี เนื่องจากค่ายนี้เราจัดเป็นครั้งที่ 3 แต่น้อง ๆ ยังคงจำบทเพลงที่พี่ ๆ เคยสอนตั้งแต่ปีแรกได้อย่างแม่นยำ เสียงร้องที่ประสาน เสียงหัวเราะและรอยยิ้ม ท่าเต้นแสนน่ารัก และการแสดงออกอย่างจริงใจและใสซื่อ เป็นเสน่ห์ที่แท้จริงของค่ายอาสามนี้ที่ยากจะหาประสบการณ์หรือเรื่องราวความประทับใจแบบเดียวกันนี้จากที่แห่งอื่นมาทดแทนกันได้
ค่ายอักษร-ศิลป์เพื่อน้อง ที่จัดขึ้นที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนจุฬา-ธรรมศาสตร์ 3 อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตากนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยผ่านกิจกรรมตั้งแต่การสร้างตัวอาคารเรียน รวมถึงการทำกิจกรรมกับนักเรียนในค่าย การปลูกฝังค่านิยมและสร้างสำนึกร่วมกันระหว่างชุมชนและคณะอาสาสมัครที่จำเป็นต่าง ๆ เช่นการรักการอ่าน การรักษาความสะอาด รวมถึงการตระหนักรู้ในด้านการศึกษา เช่นการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ โดยทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นเราใช้องค์ความรู้จากเพื่อนสมาชิกค่ายจากทั้ง 4 สถาบันที่เข้าร่วม ทั้งความรู้ความสามารถด้านภาษา เทคโนโลยี และโดยเฉพาะองค์ความรู้หรือเครื่องมือที่มีบทบาทต่อค่ายนี้เป็นอย่างมาก นั่นคือ ความรู้และทักษะทางด้านดนตรี เสมือนสื่อกลางที่เชื่อมระหว่างโลกของนักเรียนและคนในชุมชนที่นี่ ผ่านเสียงดนตรี และบทเพลงบรรเลงต่าง ๆ แต่สิ่งที่พิเศษและต่างออกไป นั่นคือในปีนี้ เสียงที่คลอเคล้าไปกับบรรยากาศบนดอยที่พวกเราคุ้นเคย กลับไม่ได้มีแต่เสียงเครื่องดนตรีสากลที่พวกเราได้จัดเตรียมไปอย่างเดียวเท่านั้น แต่ครั้งนี้ ได้ถูกสอดประสานด้วยเสียงอันเเผ่วเบา แต่กลับมีเสน่ห์และเรื่องราวความเป็นมาที่ยาวนาน สอดแทรกวัฒนธรรมอันลึกซึ้งที่ควรค่าแก่การศึกษา เรียนรู้ และทำความเข้าใจของเครื่องดนตรีพื้นถิ่นของชาวบ้าน อย่าง “เตหน่า” เข้ามาร่วมด้วย
เครื่องดนตรี “เตหน่า” เป็นตัวแทนที่นิยามความหมายของหมู่บ้านแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี ด้วยลักษณะของความเรียบง่ายแต่หากพิจารณาให้ดีแล้วจะมีความละเอียดลึกซึ้ง และความมีเรื่องราวเบื้องหลังที่แฝงอยู่ภายในมากมาย และเครื่องดนตรีธรรมดา ๆ คล้ายพิณฝรั่ง (harp) ของชาวบ้านชิ้นนี้เอง ที่จะเปลี่ยนรูปแบบ นิยาม และความหมาย ของการจัดค่ายปีนี้ของเราให้ต่างจากเดิมไปอย่างสิ้นเชิง
เสียงดนตรีทำอะไรได้มากมาย มากกว่าที่เราจะจินตนาการได้ และครั้งนี้ เสียงดนตรี ได้พาเราไปสู่การลงไปสืบทราบถึงที่มาของชุมชน ผ่านเสียงดนตรีเหล่านี้ กลุ่มเด็กตัวน้อย และพี่ตัวโต พากันตะลอนไปในหมู่บ้าน ในวันแรกเราเก็บข้อมูล และลงพื้นที่เพื่อตามหาเสียงเพลงและเรื่องราว จากการที่เด็ก ๆ พาเดินเข้าไปในชุมชน ชุมชนที่ในปีที่ผ่านมา เราเป็นเพียงหนุ่มสาวแปลกหน้าจากในเมือง แต่ในปีนี้ สิ่งที่เราได้รับไม่ใช่เป็นการต้อนรับที่มีสายตาที่ทั้งเขินอายและระแวดระวังที่จะเชื้อเชิญเราเข้าไปสู่บ้านของทุกคนเหมือนแต่ก่อนอีกต่อไปแล้ว หากแต่ในครั้งนี้พวกเรากลับได้รับการเชื้อเชิญเป็นอย่างดีจากพ่อเฒ่า แม่เฒ่าในชุมชน ให้เราได้เข้าไปสอบถามเรื่องราวต่าง ๆ ที่พวกเค้าพร้อมที่จะตอบทุกข้อสงสัยด้วยหัวใจที่อบอุ่น เเละใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม ในปีนี้เราตั้งใจจัดทำผลงานหลังการทำกิจกรรมเป็นรูปแบบของสารคดีที่เป็นเรื่องราวที่ไม่ใช่มีแต่เพียง “เรา” เป็น “ผู้เล่า” จากมุมมองของคณะอาสาสมัครเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องราวจากประสบการณ์ตรงของ “พ่อเฒ่า แม่เฒ่า และทุกคนในชุมชน” ที่พร้อมใจ และยินดีที่จะ “เล่า” เรื่องราวอันน่าสนใจ ดังเช่น เพลงท้องถิ่น ที่บ่งบอกความเป็นมาของพวกเขาไปด้วยพร้อม ๆ กัน “การเล่า” ในครั้งนี้จึงไม่ใช่เป็นเป็นเพียงการเล่าเรื่องธรรมดาทั่วไป ที่มีผู้ถาม และมีผู้ตอบ แต่หากเป็นการระลึกถึงความทรงจำในวันเก่า ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งชุมชนในสมัยก่อน ตั้งแต่ที่พวกเขายังเป็นเด็ก ในวันที่ความทรงจำดี ๆ ของพวกเขาเกิดขึ้นมากมาย และเราในฐานะผู้ฟังก็นำมาเรียงร้อยรังสรรค์ออกเป็นเรื่องราวอันน่าประทับใจ คงไว้ซึ่งประวัติความเป็นมาอันยาวนานของหมู่บ้าน และเกิดเป็นผลงานการแสดงที่จะเป็นดั่งอัลบั้มภาพแห่งความทรงจำที่ฉายชัดอยู่ในหัวใจของทุกคนที่ได้รับชมตลอดไป
จากการเก็บข้อมูลภาคสนาม นำไปสู่การนำมาสังเคราะห์ รวบรวม การทำงานในวันที่สอง จึงเป็นการทำงานที่เรามีการแบ่งงานออกเป็นสองฝ่ายด้วยกัน นั่นคือ ฝ่ายแรกสำหรับจัดทำและเรียบเรียงวิดีโอสารคดี และกลุ่มที่สอง นั่นคือ กลุ่มที่ทำหน้าที่ศึกษาเพลงชุมชนที่หลากหลาย เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวที่แฝงอยู่ภายใน ทั้งเรื่องของความรักวัฒนธรรมและประเพณี เพื่อนำมาถ่ายทอดสู่นักเรียนและคนในชุมชน โดยมีกระบวนการ ดังนี้
1. การทำการศึกษาเนื้อเพลงที่ได้มาพร้อมกับการสัมภาษณ์พ่อเฒ่าแม่เฒ่าในชุมชนในวันก่อนหน้า
2. การถอดความ ถอดภาษา รวมถึงสอบถามเรื่องราวจากน้องๆนักเรียนเพื่อให้เห็นภาพรวมของเนื้อหาในบทเพลง
3. การเรียบเรียงนำดนตรีที่เป็นเครื่องมือสำคัญของพวกเราชาวค่าย สอดประสานลงไปในบทเพลง และนำมาถ่ายทอดกับนักเรียนและรังสรรค์ท่าเต้น จนเกิดเป็นการเเสดงสุดสร้างสรรค์และน่าประทับใจ
ข้อสังเกตที่เราได้รับในครั้งนี้ที่ต่างไปจากเดิม นอกจากที่ชาวบ้านให้ความไว้วางใจเรามากขึ้นแล้วนั้น ตัวนักเรียนเองก็มีการพัฒนาทักษะในการเรียนรู้ และการถ่ายทอดสารออกมาได้ดีไม่แพ้กัน เนื้อเพลงที่แปลกใหม่ ประกอบกับท่าเต้น ที่ออกแบบมาให้เข้ากับจังหวะของดนตรีนั้น นักเรียนทั้งร้องและแสดงออกมาได้อย่างสวยงาม พร้อมเพรียง ในเวลาอันรวดเร็ว พร้อมกับความสนุก แสดงให้เห็นถึงนิมิตหมายอันดี และเป็นความภาคภูมิใจของพวกเราเป็นอย่างมาก ที่ได้เห็นน้อง ๆ มีพัฒนาการที่เพิ่มขึ้น อย่างเห็นได้ชัดว่ากิจกรรมที่คณะอาสาสมัครได้ลงแรงกายและใจทำงานอย่างต่อเนื่องมากว่าสามปีแล้วนั้น ไม่ได้เป็นการสูญเสียประโยชน์ไปโดยเปล่าแต่อย่างใด ภาพความน่ารักเป็นกำลังใจอันดี ที่ทำให้เราไม่เคยเกิดความท้อถอยในการทำงาน และอยากที่จะสานต่อโครงการนี้ ให้มีขึ้นต่อไปในทุกปี และเกิดความยั่งยืนต่อเนื่องจากการร่วมกันพัฒนาชุมชนแม่ออกฮูแห่งนี้
บริเวณลานกว้างของโรงเรียน ถูกเติมเต็มด้วยเก้าอี้ และอุปกรณ์ที่ดูแปลกตา จัดเป็นทั้งกลุ่มผู้ชม และกลุ่มการจัดแสดง บริเวณโดยรอบถูกตกแต่งด้วยภาพวาดผลงานของเด็กนักเรียน และแล้ว เวลานี้ก็มาถึง วันที่พวกเราร่วมแรงกายและใจ เพื่อให้ก่อเกิดการนำเสนอผลงานในคืนสุดท้ายของกิจกรรมที่จะได้ออกมาเห็นเป็นที่ประจักษ์ให้กับคนในชุมชน
ครั้นดวงอาทิตย์เคลื่อนคล้อยลับลงไปกับภูเขารอบโรงเรียนแล้ว แสงไฟจากจอโปรเจคเตอร์จัดฉายภาพความประทับใจในวันที่ผ่านมาของการดำเนินกิจกรรมค่ายอักษร - ศิลป์ เพื่อน้อง ปีที่ 3 นี้ ประมวลผลงานจากการทำกิจกรรมในวันที่ผ่านมา รวมถึงวิดีโอความในใจของผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่ายที่สะท้อนให้เห็นพลังของการทำงานเพื่อประชาสังคมของคณะอักษร - ศิลป์ ตามด้วยการแสดงจากพ่อเฒ่า แม่เฒ่า ที่จัดเตรียมเครื่องดนตรีพื้นบ้าน มารอทำการแสดงให้พวกเรารับชมเราฟังกันอย่างคับคั่ง มาจากทั้งชุมชนบ้านแม่ออกฮูและชุมชนใกล้เคียง
การแสดงของเด็ก ๆ นักเรียน ที่ผ่านการฝึกซ้อมเป็นอย่างดี ภาพที่นักเรียนและคณะอาสาสมัครอักษร - ศิลป์ออกไปร่วมทำการแสดงนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ในฐานะครูและศิษย์ หรือผู้สอนหรือผู้เรียนแต่อย่างใด แต่คือความรักความผูกพัน คือพี่น้อง คือหัวใจที่แม้จะพบพานกันเพียงปีละหนึ่งครั้ง แต่ก็เชื่อมโยงและผูกพันกันได้เพียงเวลาไม่นาน
หากจะถามว่าความสำเร็จนั้นคืออะไร การทำตามที่ฝึกซ้อมมาอย่างถูกต้องไม่มีผิดพลาดใช่หรือไม่ การเป็นไปตามรูปแบบที่หวังไว้ทุกประการนั้นหรือเปล่า? ความสำเร็จของพวกเราในฐานะผู้ร่วมจัดค่ายนั้นคือ รอยยิ้มของทุกคนในที่แห่งนี้ต่างหาก ที่บอกเล่าเรื่องราวที่มากกว่าความสำเร็จ แต่คือความสุข ความรัก ความประทับใจ และความทรงจำ ณ ที่แห่งนี้
การดำเนินงานในปีนี้ นอกเหนือจากรูปแบบของการแสดงผลงานที่ต่างออกไปแล้ว การทำงานในเชิงกระบวนการของเราก็มีความแตกต่างออกไปด้วย ในปีนี้ มีการทำงานในรูปแบบของการมีระบบพี่เลี้ยง (Mentor) ในคณะอักษร - ศิลป์ และการสร้างผู้นำชุมชนรุ่นเยาว์ จากนักเรียนรุ่นพี่หรือศิษย์เก่าของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จุฬา - ธรรมศาสตร์ 3 มาช่วยดำเนินกิจกรรมทำให้กิจกรรมครั้งนี้ ประสบผลสำเร็จในการประสานงานกับชุมชนให้เป็นไปด้วยดี โดยการดำเนินกิจกรรมในระบบพี่เลี่ยงนี้ พบว่ามีความสำคัญ และเป็นแรงสนับสนุนหลักในปีนี้ก็ว่าได้ ทำให้น้อง ๆ รุ่นใหม่ได้ฝึกการทำงาน ในขณะเดียวกันก็มีรุ่นพี่ที่นับว่ามีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญจากการผ่านการทำงานในรูปแบบเดียวกันนี้มาก่อน เป็นผู้ช่วย คอยตรวจสอบ ตรวจทานให้คำแนะนำ และสร้างความเข้าใจอันดีแก่สมาชิกอาสาสมัครรุ่นใหม่ ก่อให้เกิดผลสำเร็จตามมาจากการแบ่งทรัพยากรบุคคลอย่างมีคุณภาพ อันส่งผลถึงประสิทธิภาพที่ดีของการดำเนินงาน
อย่างไรก็ตาม ไม่มีงานใดที่จะประสบความสำเร็จราบรื่นตลอดทั้งการทำงาน อุปสรรคและปัญหานั้นเกิดขึ้นควบคู่กันเสมอ เช่นเดียวกันกับการทำงานครั้งนี้ ที่ถึงแม้ว่าค่ายจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปี แต่พวกเราคณะผู้จัดทำได้คิดริเริ่มสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ในทุกครั้ง ไม่ได้ดำเนินการตามรูปแบบงานปีก่อนหน้า จึงส่งผลให้มีการตัดสินใจหรือคิดผิดพลาดในบางครั้ง การะดมสมองและการประชุมวางแผนจึงเป็นกระบวนการที่สำคัญ ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาและความหลากหลายในเนื้องาน และทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี นับว่าเป็นสิ่งท้าทายสำหรับพวกเราในครั้งนี้ อนึ่งเพื่อให้การจัดค่ายนั้นมีความแตกต่างหลากหลายในเนื้อหากิจกรรม แต่ยังคงไว้ซึ่งคุณภาพ อันจะส่งผลต่อการเกิดประโยชน์ที่แท้จริงต่อนักเรียน และคนในชุมชน
หมอกจางปรากฏให้เห็นขึ้นอีกครั้ง เพียงแต่ในเช้าวันนี้ ไม่ใช่บรรยากาศของความสดชื่น แปลกใหม่ ความตื่นเต้นในหัวใจของ ชุมชน นักเรียน และคณะอักษร-ศิลป์ เหมือนกับวันแรกอีกแล้ว เพราะวันนี้เป็นวันสุดท้าย ที่ทุกคนจะต้องกลับไปทำหน้าที่ของตนเอง เรา… คณะอักษร-ศิลป์มีช่วงเวลาที่เราได้มีความทรงจำดีๆร่วมกันในค่ายแห่งนี้ แม้ว่าจะเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ความสนุกสนานมากเพียงใด เวลาก็ไม่สามารถหยุดไว้ดังใจที่ปรารถนา บรรยากาศและภาพความประทับใจของเรื่องราวที่เราได้มาอยู่ร่วมกัน ณ ชุมชนบ้านแม่ออกฮูแห่งนี้ให้ฉายชัดและกึกก้องอยู่ในหัวใจของพวกเราทุกคน