activities

การบริหารกิจกรรมของค่ายอักษร - ศิลป์ เพื่อน้องฯ ปีที่ 3

เบญจมาศ ไม้เกตุ , จิรายุส เถาลิโป้


ค่ายอักษร - ศิลป์ เพื่อน้องฯ ปีที่ 3 นี้ ความสนุกเพิ่มมากขึ้นเพราะพวกเรา และนักเรียนที่เข้าร่วมได้ลงไปเรียนรู้ในชุมชนของพวกเขาเอง ทำให้พบกับวัฒนธรรม ภาษา บทเพลง รวมไปถึงสิ่งต่าง ๆ ที่พวกเขาอาจจะยังไม่เคยได้พบมาก่อน และแน่นอนว่าเป็นสัญญาณว่าจะเลือนหายไปตามกาลเวลา คณะอักษร - ศิลป์ และนักเรียน รวมถึงคนในชุมชนได้ถ่ายทอดสิ่งที่ได้เรียนรู้ ผ่านกิจกรรมดนตรี และผลงานศิลปะสร้างสรรค์ ตามความคิดโดยมิให้สูญเสียสาระสำคัญในการดำเนินงาน

นักเรียนยังคงน่ารักเหมือนเดิม หลายคนยังจดจำพวกเราได้ ส่วนน้อง ๆ ที่เรียนจบจากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนจุฬา-ธรรมศาสตร์ 3 ไปแล้วก็ยังคงเข้ามาร่วมกิจกรรมกับพวกเราในฐานะผู้นำเยาวชนของชุมชน ให้มีบทบาทในการเป็นผู้นำมากยิ่งขึ้น พร้อมกันกับสลับบทบาทของพวกเรามาเป็นผู้ตามและผู้นำในบางครั้งเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังที่ตั้งใจไว้ อาสาสมัครอักษร - ศิลป์ทุกคนที่เข้าร่วมค่ายก็ต่างต้องผลัดกันมาเป็นผู้นำกิจกรรมของค่าย ในการลงพื้นทีสำรวจชุมชนนั้นเราได้แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ โดยมีมัคคุเทศก์ (นักเรียน) พาพวกเราไปเยี่ยมชม และศึกษาเรื่องราวที่เกิดขึ้น เริ่มแรกเราได้สอบถามวิถีชีวิตของพวกเขา อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ที่พวกเขาใช้เป็นประจำ สิ่งรอบตัวที่เขารู้จัก ประเพณีที่เกิดขึ้นในชุมชน และเริ่มวาดแผนที่ในชุมชนรวมไปถึงสถานที่ต่าง ๆ ที่สำคัญที่เป็นที่รู้จักของคนในชุมชน ดังนี้

กลุ่มที่ 1

ทำการศึกษาเรื่องศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และดนตรีที่อยู่ในชุมชน เราได้เรียนรู้ว่าวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในชุมชนนั้นเป็นการผสมผสานกับวัฒนธรรมในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเมื่อเราพบว่าบางบทเพลงที่พ่อเฒ่าแม่เฒ่าร้องนั้นเป็นภาษาโบราณ ซึ่งคนในรุ่นถัดมาคือพ่อแม่ของนักเรียน ก็ยังไม่เข้าใจความหมายมากนักเพราะถ้อยคำนั้นเป็นสำนวนที่ต้องถอดความหมายออกมาอีกทีหนึ่ง ซึ่งได้รับอิทธิพลทางด้านพิธีกรรมทางศาสนามาจากทางฝั่งของประเทศเมียนมาร์ และประเพณีที่น่าสนใจที่เราได้นำมาถ่ายทอดต่อไปคือประเพณีแต่งงาน เดิมทีจะไม่มีการเล่นเครื่องดนตรีใด ๆ มีเพียงแค่การขับร้องเดี่ยวและหมู่เท่านั้น

กลุ่มที่ 2

กลุ่มที่สองได้ศึกษาสิ่งของเครื่องใช้ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องนุ่งห่ม เครื่องดนตรีพื้นบ้าน และประวัติของพื้นบ้าน โดยในกลุ่มที่สองเราได้สอบถามประกบผู้ใหญ่บ้านเก่า ซึ่งทำให้เราได้รู้และได้เจออะไรหลาย ๆ อย่าง ในเรื่องของเพลงพื้นบ้าน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เพลงพื้นบ้านของเขานั้นได้รับอิทธิพลมาจากลำพูนแล้วส่วนใหญ่จะได้ฟังจากการที่ไปงานประเพณี โดยพระจะเป็นคนเปิดให้ฟัง ทุก ๆ ปีชาวปกาเกอะญอ จากบ้านแม่ออกฮูนี้ จะไปรวมตัวที่จังหวัดลำพูน ทุกปีเป็นประเพณีเพื่อเปลี่ยนยอดเจดีย์ โดยชาวบ้านเล่าว่าพิธีกรรมส่วนใหญ่นั้นล้วนได้รับอิทธิพลมาจากประเทศเมียนมาร์

ทำให้งานสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นจากความคิดของนักเรียนได้ถ่ายทอดสิ่งที่ได้เรียนรู้จากในชุมชน รวมไปถึงการทำกิจกรรมร่วมกันกับพี่ ๆ ผ่านบทเพลงทั้งในภาษาไทย และในภาษาปะกาเกอญอ