activities
วงดนตรีค่ายอักษรศิลป์ #3 (Music for Society Ensemble)
กรวิชญ์ อนุนตการุณ, กฤตยา หล่อปิยานนท์
ดนตรีในค่ายอักษร - ศิลป์ ปีที่ 3 มีจุดมุ่งหมายคือการศึกษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในชุมชนในแง่มุมที่ลึกขึ้น และมีจุดประสงค์ในการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้น ในด้านการทำงานดนตรีเองก็ต้องใส่ใจในรายละเอียดมากขึ้น และไม่ทำให้สูญเสียสาระสำคัญของตัวบทดนตรีเดิม โดยมีสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการสร้างสรรค์งานดนตรีให้ยังคงมีชีวิตซึ่งมีความหมายที่งดงามดังเห็นได้จากการเก็บข้อมูลภาคสนามจากบทเพลงขับร้องจนถึงการแสดงในค่ำคืนการนำเสนอผลงาน
วงดนตรีค่ายอักษร - ศิลป์ ปีที่ 3 มีโจทย์ที่ต้องทำการบ้านมากขึ้นในด้านของรายละเอียดและความละเอียดอ่อนในวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งในบางครั้ง ถึงแม้ว่าเรามีประสบการณ์ในการทำงานกับชุมชนบ้านแม่ออกฮูมาบ้างแล้ว ก็ต้องคำนึงถึงข้อผิดพลาดได้ ยกตัวอย่างเช่น การผิวปากตอนกลางคืนเพื่อเป็นเสียงนกในช่วงของการนำเสนอผลงานค่ายอักษร - ศิลป์ ในค่ำคืนสุดท้ายว่าเป็นสิ่งที่คนในชุมชนถือเป็นเรื่องที่ไม่เป็นมงคล อย่างไรก็ตาม เป็นสิ่งที่ทางคณะต้องให้ความสำคัญในรายละเอียด รวมถึงความเชื่อของชุมชนด้วย ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความเคารพและความเข้าใจในชุมชนวัฒนธรรมที่แตกต่างได้
วงดนตรีเฉพาะกิจนี้ไม่เหมือนการเรียนรวมวงเชมเบอร์ (chamber) ในสถาบันการศึกษาที่มีวิจิตรเท่านั้น แต่วงดนตรีค่ายอักษร - ศิลป์ มีจุดประสงค์ที่สำคัญมากประการหนึ่งคือ การถ่ายทอดความรู้สึก และสำนึกในวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่คณะอักษร - ศิลป์ได้ศึกษาร่วมกันไปพร้อมกับคนชุมชน ครูและนักเรียนในโรงเรียนจากเนื้อร้องที่มีความหมายที่มีความสำคัญในการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานร่วมกันโดยมีดนตรีเป็นสะพานในการสร้างความตระหนักรู้ต่อชุมชน
การเรียบเรียงบทเพลงในลักษณะของการใช้มุขปาฐะ (oral tradition) ที่เริ่มจากการจดบันทึกโน้ตที่ศึกษาร่วมกันกับชุมชนเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินกิจกรรมภาคสนาม การทำงานดนตรีของค่ายอักษร - ศิลป์ เพื่อน้องในครั้งนี้ว่าเป็นการเรียนรู้ เรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกัน เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา เรียนรู้ที่จะผิดพลาด และเรียนรู้ที่จะเรียนรู้ การทำงานร่วมกับอาสาสมัครนิสิตนักศึกษาที่มีทักษะเฉพาะอื่น ๆ ภายใต้วัตถุประสงค์ร่วมกันของความเป็นอาสาสมัคร (volunteerism)
การแสดงในคืนสุดท้าย เป็นผลลัพธ์ของการดำเนินงานกิจกรรมค่ายอักษร-ศิลป์ ปีที่ 3 โดยกิจกรรมนำเสนอเรื่องราวผ่านการประมวลภาพ วิดีโอสารคดีที่บันทึกในระหว่างการดำเนินกิจกรรม กิจกรรมการแสดงของพ่อเฒ่าแม่เฒ่าที่สลับกันออกมาบรรเลงในความทรงจำ และการแสดงของนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จุฬา-ธรรมศาสตร์ 3 ผู้ชมซึ่งได้แก่คนในชุมชนบ้านแม่ออกฮู รวมทั้งผู้ชมจากชุมชนอื่น ๆ มาเข้าร่วมรับชมและรับฟัง ทำให้บรรยากาศในการแสดงมีอรรถรสและสีสันมากขึ้นกว่าปีที่หนึ่งและสอง
ในส่วนของวงดนตรีอักษร - ศิลป์ ปีที่ 3 นี้ จากการทำงาน พบว่า อาสาสมัครนิสิตนักศึกษาจากทุกสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยน ปรับเปลี่ยนความเห็น เพื่อให้เกิดประโยชน์เมื่อเทียบกับสิ่งที่ผู้ร่วมค่ายทุก ๆ คนได้ทำร่วมกันและได้รับจากกันและกัน เห็นได้จากกิจกรรมได้มีลักษณะของการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน โรงเรียน และคณะอักษร - ศิลป์ที่แสดงให้เห็นถึงการศึกษาชุมชนร่วมกัน ตั้งแต่การได้ฟังการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากผู้เฒ่าที่นี่และได้รับรู้ถึงกลิ่นอายและบรรยากาศซึ่งเราไม่สามารถรับรู้ถึงกลิ่นอายเหล่านั้นจากการอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว ซึ่งบทเพลงต่าง ๆ ที่เราได้ใช้ก็ได้รับการถ่ายทอดจากการฟังเช่นกัน ถึงแม้อาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ความเปลี่ยนแปลงก็แสดงให้เห็นว่าดนตรีที่เราได้รับมายังคงมีชีวิตอยู่และจะยังไม่เลือนหายไป
จากการทำงานร่วมกันในปีนี้จวบจนการสร้างสรรค์ผลงานของทุก ๆ คนในคืนสุดท้าย และได้กลับมาคิดในหลาย ๆ แง่มุมมองที่จะทำให้ชุมชนและสังคมในประเทศเรานั้นงอกงามขึ้นจากภายในใจ
การเรียนรู้ที่จะฟังซึ่งกันและกันพบมากขึ้นในการดำเนินกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่แสดงถึงความเข้าอกเข้าใจของทุกฝ่ายอย่างชัดเจน และแน่นอนว่าเสมือนกับการบรรเลงดนตรีที่ต้องฟังอย่างตั้งใจเพื่อให้ดนตรีที่บรรเลงออกมาด้วยกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แสดงถึงการออกจากการให้ความหมายของบทเพลงที่เป็นเอกภาพ (unity) และเมื่อมนุษย์รับฟังซึ่งกันและกันแล้ว จะก่อประโยชน์มากขึ้นจากความเข้าใจมากขึ้น นอกจากนี้แล้วบทบาทหน้าที่ของตัวเอง แล้วก็ต้องรู้ว่าจะทำอะไรต่อไป นำไปสู่การคิดแก้ไขปัญหาเหล่านั้น
ปัญหาที่เราพบเจอบ้างก็มีทั้งเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ ดังเช่น ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน โดยมีทางออกเพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมไปต่อได้คือการพูดคุยหาทางออกของปัญหา หรือบางครั้งก็ต้องใช้ปฏิภาณ (improvise) เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วย เช่นเดียวกับการใช้คีตปฏิภาณในดนตรี คือการใช้ความสามารถในการทำให้ดนตรีที่บรรเลงร่วมกันอยู่นั้นยังคงเอกภาพที่เกิดความสมดุลย์
ในมุมมองของการทำงานในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึง การแบ่งปันประสบการณ์ของทักษะที่หลากหลายของอาสาสมัครที่เกิดการเรียนรู้จากผู้อื่น ประสบการณ์และความรู้สึกต่าง ๆ ที่เราได้รับถ้อยทีถ้อยอาศัยในการดำเนินงานที่เกิดความสนุกสนาน เสียงหัวเราะที่เรามีร่วมกัน ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันพบได้ทุกขณะในการดำเนินกิจกรรมทุกช่วงเวลา
แม้ว่างานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา… ห้วงเวลาสั้น ๆ ที่หวังใจว่าจะได้ร่วมบรรเลงดนตรีที่มีชีวิตด้วยกันอีก