activities
เรื่องเล่าเคล้าเสียงฝน:
ศึกษาวัฒนธรรมชุมชน หมู่บ้านแม่ออกฮู
ต.แม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก
ชาญณรงค์ เฮงอรุณประสาร,เขตสิน จูจันทร์, ฉมามาศ แก้วบัวดี
ในช่วงเย็นเส้นทางจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่จังหวัดตากใกล้เข้ามาถึงทุกที การเดินทางอันแสนยาวนานพร้อมกับแสงแดดที่ค่อย ๆ ลาลับไป สภาพอากาศที่จังหวัดตากในวันนั้นไม่ได้หนาวเย็นอย่างที่คาดหวัง มิหนำซ้ำฝนยังตกลงมาอย่างต่อเนื่องอีกต่างหาก รถบัสขับเคลื่อนด้วยความเร็วต่ำ ถนนคดเคี้ยวไปตามไหล่เขา รถเลี้ยวซ้ายขวานั้นเพื่อลดความลาดชัน ฉันเห็นความต่างเกิดขึ้นทุกชั่วขณะอย่างน้อยในกรุงเทพฯ ก็ไม่เคยได้เห็นภูเขาจริง ๆ เห็นทีจะมีแต่ภูเขาคอนกรีตที่ตระหง่านแข่งกันสูงในเมืองกรุง ในระหว่างทางสังเกตเห็นภูเขาบางส่วนตามทางมาที่นี้ถูกโบกด้วยปูนน่าจะเพื่อป้องกันการถล่มของดิน มีการเจาะรูเล็ก ๆ ตรงปูนที่ฉันคาดเดาว่าเพื่อการระบายน้ำจากบนภูเขา ทำให้ฉุกคิดกับความเป็นจริงในชีวิตว่า มนุษย์เราคงอาจจะจำเป็นต้องดัดแปลงธรรมชาติเสียบ้าง เพื่อเข้าใกล้สิ่งที่เรียกว่า “ความปลอดภัย (แม้เพียงชั่วคราว)” ในช่วงเวลาที่เรารุกรานธรรมชาติมากขึ้น ดั่งเช่น ภูเขาคอนกรีตที่เรียงรายในเมือง เริ่มมาสู่ภูเขาลูกสีเขียวจริง ๆ เสียเข้าทุกวัน จนอดคิดเสียไม่ได้ว่า เมื่อเวลายังคงเดินต่อไปอย่างไม่หยุดหย่อน มนุษย์บนโลกมีอุปทานมากขึ้นทุกขณะ ส่งผลต่อธรรมชาติที่ถูกดัดแปลงตามอุปทานตามกันไปอย่างเสียไม่ได้ มิเว้นแม้หมู่มวลดอกไม้ที่ยังปฏิเสธไม่ได้กับสารเคมีเพื่อให้ได้ผลผลิตดั่งใจต้องการ ภูเขาทางขึ้นดอยที่รายล้อมไปด้วยธรรมชาติยังปฏิเสธไม่ได้กับปูนที่ฉาบสูงตระหง่านที่มาคู่กับความปลอดภัยแม้เพียงชั่วคราว แล้ววัฒนธรรมจากมนุษย์ที่อาศัยการอยู่ร่วมกับธรรมชาติล่ะ จะถูกฉาบปูนไปเสียเท่าไหร่? หรือยังคงรื่นรมย์อยู่ในสวนสีเขียว พลางรับไออุ่นจากแสงแดด บ้างปะทะกับสายลมเย็น ๆ หรือชุ่มฉ่ำกับสายฝนอย่างเช่นเคย ฉันเองยังคงสงสัย?
พระอาทิตย์ลาลับ แสงสว่างน้อยลงไปทุกขณะ จนมองอีกทีก็หลงเหลือเพียงแสงจันทร์ หนึ่งวันซึ่งกำลังจะลาลับไปพร้อมกับเสียงหรีดหริ่งเรไรที่เจื้อยแจ้วอยู่ทุกขณะ อากาศในคืนแรกร้อนชื้นส่อแววของสายฝนไกล ๆ ไม่มีใครทราบได้เลยว่าการสำรวจชุมชนในวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร
ฝนตกพรำๆ ตั้งแต่รุ่งสางและยังคงตกต่อเนื่องตอนที่น้อง ๆ พาพวกเราไปพบพ่อเฒ่า ภาณุ บ้านของพ่อเฒ่าสร้างด้วยไม้โดยใช้ซุงทั้งต้นเป็นเสารับน้ำหนัก บริเวณอยู่อาศัยอยู่สูงขึ้นไปเช่นเดียวกับบ้านทุกหลังในหมู่บ้านแม่ออกฮู พ่อเฒ่านั่งรอพวกเราอยู่บนบ้านแล้ว ในมือทั้งสองของท่านคือเครื่องดนตรีประเภทดีดที่เรียกว่า “กาหน่า” พ่อเฒ่าลงมือสร้างเครื่องดนตรีชิ้นนี้เองกับมือพ่อเฒ่าเริ่มดีดกาหน่าเบา ๆ ในขณะที่พวกเราและเพื่อนนักเรียนตัวน้อยพากันนั่งลงรอบ ๆ ข้างนอกนั้นยังคงได้ยินเสียงฝนกระทบหลังคาแผ่วเบา
เพลงแรกที่พวกเราได้ฟังชื่อว่า “ โถ้ลุย ” อันหมายถึงนกเขาพ่อเฒ่าเล่าว่าเป็นเพลงนี้หมายถึงความรักที่ไม่ได้เอื้อนเอ่ยออกไปและเป็นเพลงที่ชายหนุ่มมักจะฝึกไว้เพื่อเกี้ยวพาราสีหญิงสาว(เพลงอื่น ๆ ที่ตามมาก็มีเนื้อหาในลักษณะนี้)
จากการทำงานภาคสนามของนักเรียนและนักศึกษาได้เรียนรู้บทเพลงปกาเกอะญอที่เกี่ยวกับธรรมชาติ และความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชน โดยได้เรียนรู้ประสบการณ์ดนตรีจากพ่อเฒ่าภาณุ เมื่อวันที่20 ตุลาคม 2561 โดยทางนักศึกษาสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาได้พยายามถอดโน้ตดังกล่าวในลักษณะของการบันทึกโน้ตแบบตะวันตกเพื่อเก็บรวบรวมไว้ และนำไปใช้ในกิจกรรมสร้างสรรค์ของค่ายอักษร - ศิลป์ เพื่อน้องฯ ได้ดังต่อไปนี้
เพลงโถ้ลุย เป็นภาษาปกาเกอะญอแปลเป็นภาษาไทยว่า“นกเขา” บทเพลงนี้เป็นเพลงที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อเฒ่าภาณุและเป็นเพลงแรกที่พ่อเฒ่าได้ทำการแสดงบทเพลงให้พวกเราฟังผ่านเครื่องดนตรีท้องถิ่นที่เรียกว่า กาหน่า เล่นและขับร้องโดยพ่อเฒ่าเองแม้ชื่อบทเพลงได้แรงบันดาลใจมาจากสัตว์ตามธรรมชาติก็จริงแต่เนื้อหาเพลงส่วนมากของที่นี่นั้นโดยส่วนมากพูดถึงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้คน ดังเช่นบทเพลงนี้ได้บรรยายถึงการแอบรักผู้หญิงคนหนึ่ง แต่แอบเก็บความรู้สึกเอาไว้ไม่กล้าที่จะเปิดเผยออกไปให้เขารู้
บทเพลงนี้เป็นบทเพลงที่ 2 ที่พ่อเฒ่าภาณุได้ขับร้องให้พวกเราฟังผ่านเครื่องดนตรีพื้นบ้านและบทเพลงก็ยังคงพูดถึงความสัมพันธ์ของผู้คนเช่นเดิม แต่เนื้อหาของบทเพลงนั้นเป็นความรักที่เปิดเผยมากขึ้นจากเพลงแรก มีความหมายโดยรวมว่า ความรักที่ผู้ชายมอบให้ผู้หญิงคนนี้นั้นจริงจังและไม่ไขว้เขวใจให้ผู้ใดแน่นอน
บทเพลงสุดท้ายที่พ่อเฒ่าแสดงให้เราฟัง เป็นบทเพลงที่เกิดจากการตั้งคำ ถามของพวกเราเอง ดว้ ยความสงสัยที่ว่าพ่อเฒ่ารอ้ งเพลงเกี่ยวกับความรักต่อผู้หญิงมาเสียหลายเพลง แล้วบทเพลงไหนล่ะ? ที่พ่อเฒ่าใช้จีบแม่เฒ่าในชีวิตจริง พ่อเฒ่าดูออกจะเขินเสียหน่อยก่อนที่จะบอกว่าพ่อเฒ่าเล่นเพลงที่แม่เฒ่าชอบเพื่อทำให้แม่เฒ่าเกิดความประทับใจ ก่อนที่จะบรรเลงเพลงดังกล่าวซึ่งเป็นสุดท้ายให้ฟัง ก่อนที่เสียงฝนจะดังขึ้นในทุกขณะ
ตอนนี้เสียงฝนเริ่มดังขึ้นอีกครั้งทำให้การแกะทำนองดนตรีและเนื้อร้องภาษาปกาเกอะญอนั้นยากขึ้นไปอีก เราต้องขอความช่วยเหลือจากน้อง ๆ และผู้ใหญ่ในละแวกให้ช่วยตรวจทานการออกเสียงและความหมาย ซึ่งมีพ่อเฒ่ากำกับอีกต่อหนึ่ง บางทีท่านก็จะหันไปดุเด็ก ๆ ที่ครั้นออกเสียงผิด ในส่วนของการแกะทำนองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักเพราะเสียงของกาหน่านั้นไม่เสถียรและการบรรเลงของพ่อเฒ่าเป็นไปแบบกึ่งด้นสด
ฝนหยุดลงเมื่อเราเรียนเพลงเสร็จพอดี พ่อเฒ่ายื่นกาหน่าขนาดเล็กลงให้น้องงนักเรียน ลองดีดเล่นดู ประสบการณ์ครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงครั้งแรกของพวกเราที่ได้ยินเสียงเพลงท้องถิ่นของที่นี่ หากแต่เป็นครั้งแรกของน้องนักเรียนอีกหลายคนด้วย พ่อเฒ่าเล่าให้ฟังก่อนหน้านี้ว่าปัจจุบันบทเพลงเหล่านี้กำลังเลือนลางไปตามกาลเวลา
สายฝนที่โปรยปรายลงมา ไม่ว่าจะหนักแค่ไหนก็จะค่อย ๆ ซาหายไป และหยุดลงในที่สุด คงจะดีไม่น้อยถ้าบทเพลงนี้ไม่หายไปเช่นดั่งสายฝนที่โปรยปรายลงมาตลอดในขณะที่พวกเรากำลังเรียนรู้ถึงวัฒนธรรมพื้นถิ่น ณ ที่แห่งนี้
ก่อนที่พวกเรากลับมาจากการเก็บข้อมูลในชุมชน พวกเราได้ขอร้องให้พ่อเฒ่าเล่นให้ฟังอีกเสียหลายครั้ง เพื่อบันทึกเสียงไว้โดยเครื่องอัดเสียง และนำมาเปิดฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อที่จะนำเสียงที่ได้นำมาเขียนโน้ตและคำร้องให้ชัดเจนและใกล้เคียงที่สุด และหวังใจว่าจะได้ใช้บทเพลงและเรื่องราวที่ได้เรียนรู้มานี้เป็นส่วนหนึ่งในการแสดงละครกลุ่มกับน้องนักเรียนที่นี่ เพื่อให้น้อง ๆ ได้จดจำและขับร้องบทเพลงอันแสนน่าภาคภูมิใจของตนเอง
ละครชุมชน “แอ๊ะลอสะ”
จากที่คณะค่ายอักษร - ศิลป์ เพื่อน้องฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจชุมชนเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีต่าง ๆ ในชุมชนพบว่า วิถีชีวิตของคนในชุมชนบ้านแม่หละส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกับวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไป เช่น การเกี่ยวข้าว ทำไร่ทำนาการถักทอผ้า และมีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวชุมชนเอง เช่นดนตรีในชุมชนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเกี้ยวสาว ทางผู้จัดทำจึงนำสองสิ่งนี้มารวมกันและทำเป็นละครเรื่อง “แอ็ะลอสะ” เป็นละครที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชุมชนในหลายมิติ ผู้จัดทำได้นำการพัฒนาความสัมพันธ์ของคู่หญิงสาวมาเป็นตัวเดินเรื่องผ่านฤดูกาลที่มีวิถีชีวิตของคนในชุมชนซ่อนอยู่
องค์ประกอบที่ใช้ในงานสร้างสรรค์ละครชุมชน
ละครเรื่องแอ๊ะลอสะ เป็นละครที่เกี่ยวกับการพัฒนาความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวคู่หนึ่งในฤดูกาลแห่งการปลูกข้าว ผู้ชายได้มาปลูกข้าวพร้อมกับนำเครื่องดนตรีมาเล่นเมื่อผ่านบ้านผู้หญิงเพื่อเกี้ยวในฉากนี้ได้นำเพลง “นกเขา” ซึ่งเป็นเพลงที่พ่อเฒ่าใช้ร้องเกี้ยวแม่เฒ่าเข้ามาใช้เป็นบทเพลงสำคัญในละครชุมชนนี้ด้วย ในขณะเดียวกันทอผ้าทุกวันการออกแบบฉากของละครเรื่องนี้เป็นฉากที่มาจากการดำเนินชีวิตจริงของคนในชุมชนรวมถึงการทำเกษตรกรรม โดยองค์ประกอบต่าง ๆ ในละครทั้งหมดทำให้ละครออกมาเป็นแนวทางเดียวกัน ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงและความสัมพันธ์ที่มากขึ้นของคู่หนุ่มสาว นอกจากนั้นแล้วเราได้ดำเนินกิจกรรมการร้องเพลงให้กับนักเรียนที่ไม่ได้เป็นนักแสดงหลักโดยร้องเพลงเป็นภาษาปกาเกอะญอเพื่อเพิ่มบรรยากาศของเรื่องราวให้มีความเข้มข้นและสามารถสื่อสารกับชุมชนให้ได้มากที่สุดอีกด้วย
สิ่งที่ยากกับละครชุมชนเรื่องนี้ คือการที่นักแสดงเป็นเด็กระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้นเป็นส่วนมาก รวมถึงจำนวนนักเรียนในกลุ่มที่มีปริมาณมาก แน่นอนว่าเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมเมื่อเทียบกับจำนวนพี่ ๆ นักศึกษาในกลุ่ม ทางผู้จัดทำจึงมีวิธีการในการแบ่งส่วนกันแสดงและย้ำลำดับของการแสดงให้แก่นักแสดง แต่ด้วยละครเรื่องนี้เป็นละครที่ใกล้เคียงกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนแห่งนี้จึงทำให้เด็ก ๆ มองภาพเห็นได้ชัดเจน เพราะเด็กที่นี่มีความตั้งใจและกล้าแสดงออก นอกจากกิจกรรมทางด้านละครชุมชนแล้ว
ยังได้มีกิจกรรมแปลเนื้อเพลงร้องเป็นเพลงภาษาปกาเกอะญอแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมในค่ายอักษร - ศิลป์ เพื่อน้องฯ ยังคงเอกลักษณ์ในการมีส่วนร่วมของผู้คนอย่างชัดเจน
การสำรวจชุมชนและการสร้างสรรค์ละครในครั้งนี้ประกอบไปด้วยกระบวนการหลายขั้นตอนอันนำไปสู่การเเลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสมาชิกค่ายอักษร - ศิลป์และน้องนักเรียนในชุมชน
กระบวนการสำคัญในการดำเนินการ ประการแรกคือ การฟังก่อนที่เราจะได้เรียนรู้บทเพลงจากพ่อเฒ่าภาณุนั้น เราได้ฟังเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและความสัมพันธ์ของเรื่องราวเป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับน้องนักเรียนผ่านกิจกรรมละลายพฤติกรรม อาทิ การวาดแผนที่บ้านของสมาชิกในชุมชน และแน่นอนว่ารวมถึงวาดแผนที่บ้านของพ่อเฒ่าด้วย
เมื่อการรับสารสมบูรณ์แล้วจึงนำไปสู่กระบวนการการจดบันทึกและการเรียบเรียงข้อมูล ก่อนจะนำไปสู่กระบวนการผลิตผลงานสร้างสรรค์ ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมระหว่างพี่นักศึกษาและน้องนักเรียน โดยพี่ ๆ จะกำกับดูแลภาพรวมและต่อยอดองค์ความรู้จากประสบการณ์ภาคสนามที่ได้เรียนรู้ร่วมกันจากการมีปฏิสัมพันธ์กับน้อง ๆ มาโดยตลอด จากกระบวนการดังกล่าวน้องนักเรียนได้ให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมเป็นอย่างดี
เมื่อวันแสดงเข้ามาถึง พวกเราได้วางแผนการฝึกซ้อมละครอย่างรอบคอบ โดยพี่ ๆ นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายได้ช่วยแปลความหมายให้กับน้องระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น ทำให้เกิดการสื่อสารที่ชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากนักเรียนบางคนอาจจะมีความเข้าใจในภาษาไทยไม่มากนัก โดยสามารถย่นระยะเวลาการซ้อมให้ใช้เวลาน้อยลง เวลาแสดงที่ใกล้เข้ามาเต็มที พวกเรารู้สึกโชคดีมากที่การทำงานลงพื้นที่ที่เราไม่คุ้นเคยนี้ ไม่เป็นการปรบมือในการทำงานข้างเดียวแต่อย่างใด เพราะมีมือของน้องนักเรียนอีกหลายมือที่ช่วยกันปรบมือให้ดังอย่างตั้งใจในครั้งนี้อีกด้วยฉันเองเป็นเพียงอีกคนหนึ่งที่มีภาพประทับใจในการเดินทางครั้งนี้น้องนักเรียนเปล่งเสียงร้องเพลงอย่างสุดหัวใจ เช่นเดียวกับน้องที่เลน่ ละครก็เลน่ อย่างสุดฝีมือ พวกเราเหล่านักดนตรีและผู้กำกับการแสดง ได้เพียงร่วมประคับประคองการแสดงให้ราบรื่นโดยบรรเลงดนตรี พากษ์บทละครประกอบการแสดง ดั่งเช่นสายฝนที่โอบอุ้มท้องฟ้าในช่วงเวลาหลายวันที่ผ่านมาในการดำเนินกิจกรรมค่ายอักษร - ศิลป์ เพื่อน้องฯ
หลังจากการแสดงจบสิ้นลง ฝนก็ตกลงมาปรอย ๆ ลงมาในทันใดเช่นเดียวกับเช้าตรู่ของวันแรกที่ออกสำรวจชุมชน เสมือนบทเพลงและเรื่องเล่าของหมู่บ้านแม่ออกฮูที่ได้รับการขับขานอีกครั้ง