Articles
ค่ายศิลป์ ไม่ใช่ ค่ายสร้าง : บทสังเกตจากพื้นที่ ค่ายอักษร - ศิลป์ เพื่อน้อง ปีที่ 3
ศรุพงษ์ สุดประเสริฐ
อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นักมานุษยวิทยาดนตรี
“ค่าย” ปรากฏภาพจำในฐานะค่ายอาสาพัฒนาชนบท โดยระดมคนหนุ่มสาวในวัยเรียน ออกจากรั้วมหาวิทยาลัยไปยังชุมชนที่อยู่ห่างไกล เพื่อไปพบสภาพแวดล้อมที่ขาดแคลน และเราก็ใช้พลังกายและพลังทางปัญญาต่างๆ เพื่อทำให้ชุมชนนั้นดีขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาสิ่งก่อสร้างและสาธารณูปโภคพื้นฐาน และการสอนหนังสือ ตามเรื่องเล่าชาวค่ายที่สืบต่อกันมา เหล่าชาวค่ายมักจะได้เรียนรู้ถึงความแตกต่าง ความขาดแคลน ความไม่เท่าเทียมที่อยู่ในสังคมไทย หรือเรื่องโรแมนติกอย่างการมีแฟนหลังจากกลับจากค่าย ค่ายจึงเป็นช่วงเวลาที่ทำให้หนุ่มสาวในเมืองหรือลูกหลานชนชั้นกลางได้หลบหนีไปจากสภาวะทั่วไปอันจำเจ ไปสู่พื้นที่และประสบการณ์ที่จะเปลี่ยนผ่านความคิด ตัวตน และสถานะ
“โรงเรียนเราแสนงาม พันธุ์ไม้หลายนามเขียวขจี...” เพลงค่ายอักษร - ศิลป์ เพื่อน้อง ไม่เหมือนเพลงค่ายที่อื่น ที่มักจะเป็นมรดกตกทอดจากเยาวชนยุคแสวงหาก่อนที่จะนำพาไปถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เพลงค่ายที่นี่อ่อนหวาน โรแมนติกดูเป็นชาวศิลป์มากกว่าชาวค่ายอย่างที่เคยปรากฏในภาพจำ คำถามในใจฉันก็คือ ค่ายที่นี่จะเป็นอย่างไร จากข้อสังเกตและคำถามนี้ ทำให้ฉันต้องสังเกต นั่งฟังอย่างเงียบๆ เพื่อเก็บข้อมูล ตกตะกอนเป็นคำถามเพื่อพูดคุย ก่อนที่จะกลับมาตกตะกอนกับตัวเอง เพื่อตอบคำถามข้างต้น และนี่คือคำตอบที่ฉันได้รับ
1. ข้อมูลพื้นที่
1.1 ทำเลที่ตั้ง
“ขอบแคว้น ชายแดนกันดาร” ดูจะเป็นคำนิยามที่กระชับและให้ภาพได้ชัดเจน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จุฬา - ธรรมศาสตร์ 3 วางตัวอยู่บนยอดเนินเขา แวดล้อมด้วยเนินเขาลูกเล็กลูกใหญ่ลดหลั่นลาดชันสลับกันไปมา มีทั้งบ้านเรือนแบบปกาเกอะญอและพื้นที่เกษตรกรรมวางสลับตัวกันไป และมีภูเขาหินปูนขนาดใหญ่อุดมไปด้วยต้นไม้วางตัวเป็นภาพพื้นหลัง ด้านหลังโรงเรียน มีแม่น้ำแม่ออกฮูไหลผ่าน ซึ่งอีกเพียงแค่ประมาณ 3 กิโลเมตร แม่ออกฮูสายนี้ก็จะไหลไปรวมกับแม่น้ำเมย ชายแดนธรรมชาติที่คั่นระหว่างไทยกับเมียนมาร์ พื้นที่เกษตรกรรมที่วางตัวอยู่รายรอบโรงเรียนและหมู่บ้านแห่งนี้ บางแปลงเป็นไร่ข้าวโพดยืนต้นสีน้ำตาลข้างถนนดินสีแดงซึ่งนำทางเราไปสู่แม่น้ำแม่ออกฮูที่ลดระดับลงจนเห็นก้อนหินที่ท้องแม่น้ำและเศษขยะที่ติดอยู่ตามริมฝั่ง
จุดหมายปลายทางของค่ายอักษร - ศิลป์ เพื่อน้องปีนี้ ยังคงเป็นโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จุฬา - ธรรมศาสตร์ 3 ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่บ้านแม่ออกฮู หมู่ที่ 9 ต.แม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก หากปักหมุดที่ตั้งโดยเริ่มต้นที่ท่าอากาศยานแม่สอด จะใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษเท่านั้น ก็จะไปถึงด้วยถนนหลวงหมายเลข 105 แม้ว่าจุดหมายจะตั้งอยู่ ณ “ภูผา ขอบแคว้น ชายแดนกันดาร” แต่ถนนหนทางที่เข้าไปถึงนั้นไม่ได้ลำบากแต่อย่างใด หากมีเพียงด่านตรวจตั้งสกัดอยู่หลายจุด การไต่ระดับความสูงก็ไม่ถึงกับหวาดเสียว มีเพียงภูผาหินปูนรังสรรค์ภูมิทัศน์งดงามอยู่รายรอบระหว่างการเดินทางเท่านั้น ช่วงหนึ่งของถนนเป็นสะพานข้ามแม่น้ำชื่อเดียวกับหมู่บ้าน สายน้ำดูมีขนาดใหญ่จนไม่อยากเชื่อว่าเมื่อมันเดินทางไปถึงที่หมู่ 9 แล้วจะดูราวเป็นลำธารเท่านั้น
แม้ว่าสายน้ำแม่ออกฮูจะไหลผ่านหลายหมู่บ้าน และเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของคนในแถบนี้ แต่หมู่ที่ 9 มีความโชคดีที่ยังมีแหล่งน้ำสำคัญอีก 2 แหล่ง ได้แก่น้ำจากภูเขา และน้ำบาดาล ด้วยเหตุนี้ แม่น้ำสายน้อยจึงยังไม่สร้างปัญหามากมายนักให้กับหมู่บ้านนี้ ต่างจากบ้านแม่ออกผารูที่อยู่ถัดลงไปอีก 3 กิโลเมตร บริเวณที่แม่ออกฮูบรรจบกับเมย ที่ต้องพึ่งพาน้ำจากแม่น้ำเท่านั้น
แม่น้ำเมยเป็นพรมแดนธรรมชาติที่คั่นระหว่างแผ่นดินทั้งสองประเทศ หากชมภาพมุมสูงจากแผนที่กูเกิล (Google Map) แล้ว จะพบว่ามีชุมชนตั้งอยู่ที่ฝั่งไทยเท่านั้น ฝั่งเมียนมาร์นั้นมีเพียงพื้นที่สีเขียวทอดยาวไปจรดกับแนวเขา แม้เมื่อพ้นแนวเขาไปแล้ว ก็ยังคงเป็นพื้นที่สีเขียวเช่นเดิม
ทำเลที่ตั้งบ้านแม่ออกฮูนั้น แม้จะมีภูเขาโอบล้อม จนทำให้บางวันมีหมอกหนาไปจนถึงตอนสายและบางวันก็อากาศร้อนจนหลงฤดู แต่แหล่งน้ำและถนนหนทางก็ทำให้ที่นี่ไม่ได้ลำบากเกินไปนัก ขณะที่ระยะทางห่างจากพรมแดนธรรมชาติเพียงไม่กี่กิโลเมตรกลับนำมาทั้งโอกาสและอุปสรรคในคราวเดียวกัน
1.2 ผู้คนและวัฒนธรรมผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันเล่าให้เราฟังว่าผู้คนที่นี่เป็นชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ เพิ่งย้ายมาอยู่ที่นี่ได้ไม่กี่รุ่น ยังใช้ภาษาปกาเกอะญอในการพูดคุย แต่คนรุ่นใหม่จะเริ่มไม่ได้ศัพท์ยาก ๆ แล้ว ขณะที่อาสาสมัครที่ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับผู้คนที่นี่เล่าว่าคนรุ่นแรกที่มาอยู่ที่นี่อพยพมาจากเมียนมาร์
บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง มีผนังและหลังคาทำจากวัสดุธรรมชาติ บ้านที่เป็นร้านขายของจะเป็นบ้านสองชั้น ชั้นล่างเป็นร้านค้า ใช้ปูนเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ส่วนชั้นบนยังเป็นไม้
นอกเหนือจากการประกอบอาชีพค้าขายซึ่งมีไม่กี่ร้านแล้ว อาชีพเกษตรกรก็ยังพบได้ในหมู่บ้านนี้ พื้นที่เพาะปลูกกระจายตัวอยู่รอบๆ หมู่บ้าน ขณะที่พื้นที่ในบ้านเป็นแปลงผักสวนครัว แปลงผักบางบ้านได้เครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ออร์กานิก (certified organics) ด้วย
ผู้คนที่นี่มีทั้งที่นับถือศาสนาคริสต์ และนับถือศาสนาพุทธ โดยจะมีลักษณะค่อนไปทางแบบพม่า มีพระพม่ามาจำวัดอยู่ในหมู่บ้านนี้ด้วย นอกเหนือจากพระพม่าแล้ว เมื่อถึงคราวเทศกาลงานบุญ ก็จะมีศิลปการแสดงแบบพม่ามาแสดงให้ชมด้วย นักแสดงเหล่านั้นล้วนอาศัยอยู่ในศูนย์อพยพแบเกาะซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับหมู่บ้านนี่เอง
ในด้านดนตรี แม้ว่าเพลงแรก ๆ ที่เราได้ยินในหมู่บ้านนี้จะเป็นเพลงลูกทุ่งร่วมสมัยที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน แต่เพลงปกาเกอะญอเองก็ยังมีให้ได้ยินอยู่บ้าง ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันให้ข้อมูลว่ามีเพียงคนรุ่นปู่ย่าตายายเท่านั้นที่ร้องได้ คนรุ่นพ่อแม่ รุ่นลูกหลาน มีคนที่ร้องได้จำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ จนอาจกล่าวได้ว่าคนรุ่นใหม่ร้องเพลงปกาเกอะญอไม่ได้แล้ว เพลงเหล่านี้จะถูกใช้แสดงในงานเทศกาลหรือตามงานสำคัญเท่านั้น เช่น งานแต่งงาน งานศพ ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุนึงว่า เมื่อพื้นที่ในการแสดงดนตรีลดลง ก็ทำให้เพลงต่่าง ๆ ค่อย ๆ หายไปจากชุมชนปกาเกอะญอ นอกจากนี้ คำศัพท์บางคำที่เยาวชนไม่รู้จัก เพราะเป็นคำยาก ๆ บ้าง ภาษาพม่าบ้าง นอกจากนี้ ผู้ใหญ่บ้านยังให้ข้อมูลอีกว่า เมื่อก่อน มีฝรั่งมาอยู่เพื่อเก็บข้อมูลในพื้นที่ ซึ่งใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ราว 10 ปี มีเอกสารที่เขาทิ้งไว้ให้ด้วย แต่เรายังไม่มีโอกาสได้เข้าถึงข้อมูลเหล่านั้น
ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่า เพลงแรก ๆ ที่ได้ยินเมื่อมาถึงบ้านแม่ออกฮูนี้ก็คือเพลงลูกทุ่งยอดฮิตทั้งหลายในขณะนี้ เช่น ฝนเทลงมา เลิกคุยทั้งอำเภอเพื่อเธอคนเดียว รถแห่รถยู้ บักแตงโม หรือแม้กระทั่งเด็กน้อยโชว์ท่าเต้นเพลงงัดถั่วงัด การหลั่งไหลของวัฒนธรรมป๊อป (pop culture) ดูเหมือนจะเป็นคู่แข่งกับมรดกของชาติพันธุ์ในทุกพื้นที่ ผู้เขียนยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเพลงป๊อปทำให้เพลงชาติพันธุ์ถูกลบเลือนไป แต่การเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้นในราคาที่ถูกลง ก็ช่วยแพร่กระจายวัฒนธรรมป๊อปได้ในวงกว้างขึ้น ชาวบ้านมีสมาร์ทโฟนใช้ มีเน็ตประชารัฐให้ใช้ มีลำโพงบลูทูธต่อจากมือถือเปิดเพลงได้ภายในบ้าน และเค้าความ (content) ที่อุดมไปด้วยวัฒนธรรมป๊อป การได้ยินเพลงลูกทุ่งมากกว่าเพลงชาติพันธุ์จึงเป็นเรื่องที่ไม่เหนือไปกว่าความคาดหมาย
จากการสัมภาษณ์ชุมชนยังมีความท้าทายในการพัฒนาในด้านอื่น ๆ เช่น การจัดการทรัพยากรน้ำ การจัดการความสัมพันธ์กับศูนย์อพยพ รวมถึงเรื่องยาเสพติด เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนที่ต้องอาศัยความร่วมมือและกลไกภาครัฐ แต่ความท้าทายของพื้นที่บ้านแม่ออกฮูที่ประกอบไปด้วยผู้คนที่พลัดพรากมาจากที่อยู่เดิมพร้อมด้วยอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ซึ่งกำลังปะทะกับวาทกรรมความเป็นไทย และปะทะกับวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ไหลบ่ามาพร้อมกับสมาร์ทโฟนและสัญญาณอินเตอร์เน็ต กลายเป็นโอกาสที่จะทำให้ศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ได้ทำงานกับผู้คนบริเวณนั้น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตัวตน และสร้างสรรค์พื้นที่ ไม่ให้เป็นเพียงที่อาศัยของร่างกาย แต่ให้กลายเป็นที่อยู่ของจิตวิญญาณของคนในชุมชนนี้จริงๆ
2. การสังเกตค่ายอักษร - ศิลป์ เพื่อน้อง
2.1 ความมีส่วนร่วมของเยาวชนในท้องที่
ค่ายอักษร - ศิลป์ เพื่อน้องนำพาอาสาสมัครซึ่งเป็นนิสิตนักศึกษามาทำงานศิลปะกับเยาวชนระดับประถมศึกษา แต่เนื่องจากเป็นการไปลงพื้นที่เดิมอย่างต่อเนื่องหลายปี เยาวชนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้ไปแล้ว พอได้ข่าวก็พากันกลับมาหา “พี่ ๆ” ภาพความผูกพันกลายเป็นกำไรของการลงทุนในลักษณะนี้
วันแรกของกิจกรรม มีเยาวชนหลากหลายวัยมายืนรอตั้งแต่เช้า มีตั้งแต่วัยก่อนประถมศึกษา วัยประถมต้น วัยประถมปลาย และมัธยมต้น เยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมไล่เรียงไปตั้งแต่ออกกำลังกายตอนเช้า เข้ากลุ่มกิจกรรมดนตรี และลงพื้นที่ชุมชน จากนั้นจึงแยกย้ายกลับบ้าน ในวันถัด ๆ มา เยาวชนตัวจริงที่เข้าร่วมกิจกรรมเริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้นว่าเป็นใคร กิจกรรมฝึกซ้อมร้องเพลงและแสดงเริ่มทำให้เห็นระดับความมีส่วนร่วมที่แตกต่างกัน
2.2 คืนแสดงผลงาน
ลำดับการแสดงในคืนวันที่ 26 ตุลาคม 2562 เริ่มต้นจากการแสดงดนตรีปกาเกอะญอ มีเด็กหญิงคอยทำหน้าที่ล่ามให้กับนักร้องนักดนตรีผู้สูงวัยซึ่งไม่ถนัดภาษาไทยนัก จากการลอบสังเกต รอยยิ้มปรากฏบนใบหน้าของผู้ใหญ่และผู้เฒ่าผู้แก่ แต่ฉันไม่ได้สังเกตเยาวชนนัก จึงไม่รู้ว่าเขาจะมีปฏิกิริยาอย่างไรในช่วงนั้น มีเพียงการลุกไปเข้าห้องน้ำหรือดื่มน้ำเท่านั้น ขณะที่เยาวชนในวัยประถมต้นประมาณ 10 คนที่ออกมาวิ่งเล่นเสียงดัง
เมื่อดนตรีปกาเกอะญอจบลง ก็ถึงคราวที่เยาวชนจะมาแสดงผลงานจากการฝึกซ้อมในค่ายอักษร - ศิลป์ เพื่อน้อง ผู้ใหญ่บางส่วนเริ่มพาลูกเด็กเล็กแดงที่ยังอยู่ในวัยไม่หย่านมหรือยังดูแลตัวเองไม่ได้กลับบ้าน ไม่ได้รอให้การแสดงจบลงก่อน แต่ก็ส่วนน้อยเท่านั้น
การแสดงในค่ำคืนวันนั้นผ่านพ้นไปด้วยดี เยาวชนที่ร่วมแสดงให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพลงโรงเรียนเราแสนงามกลายเป็นเพลงที่เด็ก ๆ และชาวค่ายร้องขึ้นใจ พอดนตรีขึ้นปุ๊ป ก็เปล่งเสียงร้องปั๊ปอย่างพร้อมเพรียง แสดงให้เห็นว่าดนตรีทำหน้าที่หลอมรวมผู้คนได้อย่างเต็มกำลัง ไม่ว่าจะเป็นคนต่างวัย ต่างพื้นที่ หรือต่างชาติพันธุ์
หลังการแสดงจบลง เยาวชนบางส่วนอยู่ต่อเพื่อถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับอาสาสมัครและอาจารย์ในค่าย ผู้เขียนสังเกตเห็นหลาย ๆ คนยังคงโอ้เอ้อยู่ต่อแม้จะถ่ายรูปเสร็จแล้ว และบางคนก็ร้องไห้จากความซาบซึ้ง
การแสดงจบลง ชาวค่ายเก็บของ เช็คแล้วเช็คอีกให้เรียบร้อย เพราะรุ่งขึ้น เราจะต้องออกจากแม่ออกฮูตั้งแต่เช้าตรู่ ไม่มีเวลาให้ตรวจสอบอะไรมากนักนอกจากจำนวนคน ไม่มีแม้แต่เวลาให้ร่ำลา การโอ้เอ้ของเด็ก ๆ อาจหมายถึงการบันทึกภาพสุดท้ายของพี่ ๆ ในค่ายก็ได้ เพราะเขาเองก็ไม่รู้ว่าปีหน้าจะยังได้เจอกันอีกไหม ไม่มีใครรู้ ไม่มีทางรู้ได้เลย...
2.3 อาสาสมัครค่าย
ความคิดสร้างสรรค์และรสนิยม
อาสาสมัครรับโจทย์เพลงจากการเก็บข้อมูลภาคสนามในวันแรกและนำไปสร้างสรรค์เป็นการแสดง มีทั้งการประสานเสียงแบบง่าย ๆ การคิดท่าทางประกอบ และการแสดงละคร รสนิยมคือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้งานนั้นน่าสนใจและมีสุนทรียภาพ ความท้าทายคือระยะเวลาอันจำกัด กับงานหรือทักษะที่ต้องการความละเอียดและแม่นยำซึ่งล้วนบริโภคเวลา ความท้าทายอีกประการคือศักยภาพที่ติดตัวมากับอาสาสมัคร การขัดเกลาความแหลมคมในการคิด หรือการสั่งสมบ่มเพาะรสนิยม ที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน ทำให้คุณภาพในการแสดงแต่ละชุดแตกต่างกันมากจนเป็นที่สังเกต
ความเป็นผู้นำและการจัดการกลุ่ม
อาสาสมัครหลายคนมีทักษะความเป็นผู้นำเช่น ก่อนการสอนร้องเพลงหรือสร้างสรรค์การแสดง จะมีการสร้างสมาธิของเยาวชนในกลุ่ม กิจกรรมที่ถูกนำมาใช้ในช่วงนี้ ยกตัวอย่างเช่น อาสาสมัครเรียกชื่อกลุ่ม แล้วเยาวชนร้องรับว่า “ เฮ้! ” จำนวน 3 รอบ กิจกรรมดังกล่าว นอกเหนือจากทำหน้าที่เป็นสัญญาณเตือนว่ากิจกรรมพร้อมจะเริ่มแล้ว ยังเป็นการช่วยรวมความสนใจของเยาวชนมาไว้ที่จุดเดียวกัน ทำให้กิจกรรมสามารถดำเนินต่อไปได้สะดวกขึ้น เป็นต้น กิจกรรมดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงพลังของการเป็นผู้นำ เพราะการยืนอยู่ตรงหน้ากลุ่มเยาวชน จำเป็นต้องใช้พลังมหาศาลในการนำพาให้ความสนใจอันกระจัดกระจายกลับมารวมกันอยู่ที่จุดเดียว และเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะส่งผลต่อการฝึกฝนหรือการสร้างสรรค์งานกลุ่มต่อไป
อาสาสมัครหลายคนมีทักษะความเป็นผู้นำเช่น ก่อนการสอนร้องเพลงหรือสร้างสรรค์การแสดง จะมีการสร้างสมาธิของเยาวชนในกลุ่ม กิจกรรมที่ถูกนำมาใช้ในช่วงนี้ ยกตัวอย่างเช่น อาสาสมัครเรียกชื่อกลุ่ม แล้วเยาวชนร้องรับว่า “เฮ้!” จำนวน 3 รอบ กิจกรรมดังกล่าว นอกเหนือจากทำหน้าที่เป็นสัญญาณเตือนว่ากิจกรรมพร้อมจะเริ่มแล้ว ยังเป็นการช่วยรวมความสนใจของเยาวชนมาไว้ที่จุดเดียวกัน ทำให้กิจกรรมสามารถดำเนินต่อไปได้สะดวกขึ้น เป็นต้น กิจกรรมดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงพลังของการเป็นผู้นำ เพราะการยืนอยู่ตรงหน้ากลุ่มเยาวชน จำเป็นต้องใช้พลังมหาศาลในการนำพาให้ความสนใจอันกระจัดกระจายกลับมารวมกันอยู่ที่จุดเดียว และเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะส่งผลต่อการฝึกฝนหรือการสร้างสรรค์งานกลุ่มต่อไป
ผู้เขียนไม่มีโอกาสสังเกตการณ์ตั้งแต่เริ่มต้นในช่วงสองปีแรกของการจัดกิจกรรม แต่จากการสัมภาษณ์ก็พอทำให้เห็นเส้นของเหตุการณ์คร่าวๆ แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดความเข้าใจถึงสาเหตุได้ ดังนั้น จะขอไม่กล่าวถึงเหตุการณ์ หากจะพูดถึงเพียงปรากฏการณ์เบื้องหน้าที่เกิดขึ้นคือ อาสาสมัครไม่มีทักษะการสื่อสารอย่างสันติ (non violence communication) โดยมีทักษะพื้นฐานที่สำคัญคือการฟังโดยไม่ตัดสิน ในปัจจุบัน เราอาจจะได้ยินคำศัพท์เรียกทักษะนี้ว่า การฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) หรือการฟังอย่างลึกซึ้ง เมื่อขาดทักษะนี้ ความเห็นอกเห็นใจในฐานะเพื่อนอาสาสมัครด้วยกันจะเกิดขึ้นได้ยาก และเมื่อจำเป็นต้องทำให้งานกลุ่มบรรลุเป้าหมายให้ได้ การประคับประคองบรรยากาศในกลุ่มจึงเป็นเรื่องลำบาก และเต็มไปด้วยการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แม้ว่างานจะเสร็จสิ้นแล้ว แต่เราก็ยังเป็นกังวลว่าอาสาสมัครจะได้เรียนรู้สิ่งใดจากเหตุการณ์นี้บ้าง
การเปิดใจมักจะนำไปสู่ทางออกของปัญหาอย่างสันติ การยอมรับกันและกันมักจะเป็นผลพลอยได้จากการเปิดใจ แต่มันจำเป็นจะต้องอาศัยคุณสมบัติข้อนึง นั่นคือ การมองเห็นผู้อื่นอย่างเท่าเทียมกัน และนั่นจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำจะทำให้เรายอมรับความไม่สมบูรณ์แบบในตัวเอง และจะเป็นการเปิดประตูไปสู่การยอมรับกันและกันอย่างแท้จริง
3. ข้อจำกัดและข้อเสนอแนะ
3.1 ข้อจำกัดด้านเวลา
เวลาเป็นปัจจัยสำคัญในการเก็บข้อมูลในพื้นที่ เนื่องจากเวลาทำให้เราสนิทกันได้ เมื่อเวลามีจำกัด การสร้างสัมพันธภาพจึงไม่ใช่ตัวเลือกสำหรับการเก็บข้อมูลในครั้งนี้ การเก็บข้อมูลจากการสังเกตและการสัมภาษณ์ในเวลาอันจำกัดทำให้เราได้ข้อมูลพื้นฐาน ประกอบไปด้วยเรื่องทั่วไป และข้อสังเกตที่ชวนให้อยู่ในพื้นที่ต่อ เพื่อให้ปมประเด็นที่อ่อนไหวต่างๆ ได้คลี่คลาย ข้อมูลทั่วไปทำให้เราเข้าใจพื้นที่และผู้คนได้ แต่ข้อมูลเชิงลึกที่มีความอิ่มตัวจะทำให้เราเข้าอกเข้าใจ (empathy) ได้มากขึ้น จำเป็นต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับนึง ซึ่งล้วนต้องแลกมาด้วยเวลา
3.2 โอกาสทางอารมณ์และความทรงจำของคนในพื้นที่
ในค่ำคืนการนำเสนอผลงาน ขณะที่เพลงปกาเกอะญอถูกขับร้อง ผู้เฒ่าผู้แก่ยิ้มหัวให้กับบางช่วงเวลา และแววตาเปล่งประกาย สิ่งเหล่านี้สะท้อนพลังของศิลปะในฐานะเครื่องมือกระตุ้นอารมณ์ ความรู้สึก หรืออาจจะลึกซึ้งไปถึงการกระตุ้นความทรงจำ ในพื้นที่ที่ผู้คนเพิ่งอพยพมาตั้งถิ่นฐานเพียงไม่กี่รุ่น อารมณ์ความพลัดพรากจากที่อยู่เดิมยังคงลอยอยู่ในอากาศ ขณะที่บ้านใหม่ก็ยังไม่มีร่องรอยของความทรงจำ แม้จะเป็นความไม่ลงตัวของช่วงเวลานี้ ซึ่งอีกไม่นานก็ผ่านพ้นไป แต่ถ้ามองในอีกแง่มุมนึง มันเป็นโอกาสที่จะปล่อยให้ศิลปะได้ทำงานกับผู้คนและพื้นที่ กระบวนการทำงานทางศิลปะจะมีส่วนช่วยให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการได้เกิดบทสนทนากับตัวเอง เพื่อเรียนรู้ตัวตน และค้นหาวิธีการดำรงอยู่ต่อไปในบริบทที่เปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ ทำเลที่อยู่ใกล้ประเทศเมียนมาร์ มีศูนย์อพยพอยู่ใกล้ ๆ มีวัฒนธรรมพม่าอยู่รอบ ๆ มีการแสดงพม่าในคืนที่มีเทศกาลต่างๆ ก็นับเป็นโอกาสที่ดีในหลายแง่มุม ทั้งในเชิงการอนุรักษ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะการแสดงและวัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งเป็นพื้นที่พัฒนาการผสมผสานศิลปะวัฒนธรรมที่แตกต่าง และส่งเสริมการสร้างชุมชนแห่งความหลากหลาย
3.3 การพัฒนาอาสาสมัคร
งานอาสาสมัครเป็นกิจกรรมที่เติมเต็มสังคมมนุษย์ได้ เนื่องจากในชุมชนที่เราอยู่อาศัยร่วมกับผู้อื่นยังมีงานอีกหลายอย่างที่ไม่ใช่งานของใคร แต่เป็นงานของคนในชุมชน ถ้าเราขาดทัศนคติที่ดีต่องานเหล่านี้ เราจะได้ชุมชนที่ไม่พึงปรารถนาเป็นการตอบแทน กิจกรรมอาสาสมัครจะเป็นตัวช่วยอย่างดีในการสร้างทัศนคติที่ดีต่องานส่วนรวม รวมทั้งจะได้ฝึกฝนทักษะทางด้านอารมณ์ (soft skills) ต่าง ๆ เช่น ความเป็นผู้นำ การทำงานเป็นกลุ่ม การใช้ทักษะเฉพาะตัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เป็นต้น แต่ทักษะต่าง ๆ เหล่านี้ เราควรปล่อยให้เป็นเรื่องของสมบัติติดตัว หรือควรจะปล่อยให้เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้กันเองหรือไม่
ถ้าเรามองว่างานอาสาสมัครสำหรับเยาวชนคนหนุ่มสาวคือสนามพัฒนาคนและชุมชนไปพร้อม ๆ กัน เราอาจจะกลับมองที่การออกแบบกระบวนการ ตั้งแต่การเตรียมความพร้อมอาสาสมัคร การออกแบบกิจกรรม การสังเกตการณ์ในระหว่างดำเนินกิจกรรม การให้คำปรึกษา จนกระทั่งการถอดประสบการณ์และการเรียนรู้ เพื่อให้อาสาสมัครได้ได้ฝึกความเป็นมนุษย์ผ่านประสบการณ์กับความแตกต่างหลากหลาย ความละเอียดอ่อนต่อชีวิตและสังคม การเห็นคุณค่าของมนุษย์และคุณค่าของความหลากหลาย งานอาสาสมัครอาจเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนามนุษย์และสังคมที่มีพลังต่อไป
นอกเหนือจากโอกาสการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แล้ว ค่ายอักษร - ศิลป์ เพื่อน้องฯ ยังมีความโดดเด่นในแง่การใช้ประโยชน์จากความถนัดเชิงศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยให้อาสาสมัครได้เห็นประโยชน์ของความสามารถของตัวเองในทางอื่น ๆ นอกเหนือจากการสร้างสุนทรียภาพแต่เพียงด้านเดียว การทำงานในลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องรอให้ทักษะถึงระดับมืออาชีพ เพียงแต่อาสาสมัครต้องมีทักษะหรือประสบการณ์ในระดับที่วิเคราะห์ปัญหาของผู้ร่วมกิจกรรมและหาวิธีช่วยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมบรรลุเป้าหมายได้ และสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การลงชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ดนตรีและศิลปะอื่นๆ ได้คือการออกแบบกระบวนการกับตัวอาสาสมัครเอง สิ่งที่อาสาสมัครต้องเข้าใจเพิ่มเติมในการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือหนึ่งในกระบวนการพัฒนาคือ ต้องเข้าใจความหมายของกระบวนการ ความสัมพันธ์และผลระหว่างกระบวนการกับตัวผู้เข้าร่วมกระบวนการ รวมถึงวิธีการเลือกและปรับใช้เครื่องมือทางศิลปะในกระบวนการพัฒนา