Articles

ปรากฏการณ์ "จับมือมั่น" เรียนรู้เขา เขาเรียนรู้เรา

พงษ์เทพ จิตดวงเปรม

อาจารย์พิเศษ รายวิชาดนตรีเพื่อประชาสังคม สำนักวิชาดุริยางคศาสตร์ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา, นักดนตรีสร้างสรรค์เพื่อประชาสังคม


การเดินทางพร้อมเสียงดนตรี ศิลปะ และภาษากับผองเพื่อนจากต่างสถาบันอุดมศึกษาในปีที่ 3 เพื่อสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ต่อยอด และเพิ่มพูนจินตนาการของเยาวชน โดยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้เยาวชนในพื้นที่ได้เข้าใจกระบวนการ และฝึกฝนความเป็นผู้นำกิจกรรมมากขึ้นกว่าครั้งก่อน ในขณะเดียวกันนิสิตนักศึกษาจากทั้งสี่มหาวิทยาลัยได้ดึงตนเองออกจากสังคมเมือง และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันไปกับเยาวชนในพื้นที่

ความท้าทายในการเดินทางเพื่อที่จะพัฒนาศักยภาพของคน และเรียนรู้องค์ความรู้ที่มีอยู่ในชุมชนยังคงท้าทายอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกิจกรรมทางดนตรี และศิลปะที่ต้องเรียนรู้ระหว่างกันทั้งฝ่ายของอาสาสมัครอักษร - ศิลป์ และฝ่ายเยาวชนในพื้นที่ ดังนั้นความเชื่อมั่นในการพัฒนาของเยาวชน และชาวค่าย เป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นสิ่งผลักดันให้เกิดความท้าทายในการสร้างสรรค์ผลงาน การเรียนรู้การใช้ชีวิต และการพัฒนาตนเองอย่างไร้ขีดจำกัด

การทำงานร่วมกันจากเพื่อนต่างสถาบันอุดมศึกษานี้ เปรียบเสมือนแบบจำลองของการทำงานในอนาคตเมื่อนิสิตนักศึกษาต้องออกไปเผชิญโลกภายนอกมหาวิทยาลัยที่มีคนหลากหลายทางความคิด ดังนั้นการจัดการอารมณ์ การจัดการความคิด แสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่เกิดขึ้นในค่ายจึงเป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้ในการทำงานอยู่เสมอ

การกระตุ้นการเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่ที่ชุมชนมีอะไรบางอย่างอยู่ในวิถีชีวิตจนบางครั้งตนเองนั้นรู้สึกเคยชิน และคุณค่าของสิ่งเหล่านั้นอาจถูกมองข้ามไป เช่น เครื่องดนตรี บทเพลงพื้นบ้าน การทอผ้า การเก็บถนอมอาหาร เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจถูกลืมเลือนในสังคม และถูกกระแสทุนนิยมเข้ามาบดบังวิถีชีวิตที่มีการพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ และมีความเรียบง่าย

การทำงานของคณะอักษร - ศิลป์เพื่อน้อง จึงมีเป้าหมายในการเรียนรู้ชุมชน ทำความเข้าใจวิถีชีวิต โดยมีการทำกิจกรรมดนตรีและศิลปะ เพื่อให้ทั้งเยาวชน และชาวค่ายได้รู้จักตัวเอง ฝึกฝนการเป็นผู้นำ-ผู้ตาม ในขณะเดียวกันได้รับองค์ความรู้จากชุมชนผ่านกระบวนการที่สร้างสรรค์ กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ชุมชนมากขึ้น ดังที่ปรากฏในการแสดงเมื่อมีพ่อเฒ่าแม่เฒ่าเดินทางมาขับขานบรรเลงดนตรีของเขาให้เยาวชนและชาวค่ายได้รับฟังทั้งในการเก็บข้อมูลภาคสนามและการนำเสนอผลงานการดำเนินงานในคืนสุดท้าย

นอกจากนี้ กิจกรรมในข้างต้นยังได้รับความสนใจจากหมู่บ้านอื่นบริเวณโดยรอบ การแสดงดนตรี ศิลปะ และละครเปรียบเสมือนเป็นการสร้างผลงานที่ทุกคนต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อให้ผลงานนั้นออกมาอย่างมีคุณภาพที่สุดเท่าที่เวลาอันจำกัด ดังแนวคิดการมีส่วนร่วมทางสังคมก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางสังคมที่แน่นแฟ้นมากขึ้น (Cohen and Uphoff, 1977)

“จับมือมั่น” เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ นานา จากการเรียนรู้ตนเองเพื่อเข้าใจผู้อื่น เรียนรู้ผู้อื่นเพื่อเข้าใจตนเองมากขึ้น จะก่อให้เกิดปรากฏการณ์จับมือมั่นที่ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและสร้างกลุ่มอาสาสมัครที่มีความเข้มแข็งในทางความคิด อีกทั้งยังพร้อมที่จะสร้างสังคมให้น่าอยู่มากขึ้น