Articles

บทวิเคราะห์ ภาพสะท้อนในการจัดค่ายอักษร-ศิลป์ ปีที่ 3

ศักดิ์ระพี รักตประจิต

นักวิจัยประจำสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา


การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ภายในค่ายอักษร-ศิลป์ ได้ถูก กำกับ ติดตาม และประเมินผลมาโดยตลอดอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมทุกมิติ บนพื้นฐานของการประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assessment) เพื่อให้ได้ผลการดำเนินงานค่ายตรงตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการที่กำหนดไว้ อีกทั้งยังสะท้อนให้ผู้ดำเนินงานค่ายทราบถึงวิธีการ และกระบวนการสำคัญต่าง ๆ ของการดำเนินงานที่ต้องแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาอย่างเหมาะสมต่อไป

หลักการ วิธีการ และแนวคิดในการทำงานร่วมกับชุมชนเชิงสร้างสรรค์ และการสื่อสารในรูปแบบของการทำงานข้ามวัฒนธรรม ของค่ายอักษร-ศิลป์ ของปีที่ 1 - ปีที่ 3 ได้ถูกทดลอง ประเมินผล และพัฒนาต่อยอดกระบวนการและองค์ความรู้ของแต่ละกิจกรรม เพื่อขยายผลการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ และเกิดกระบวนการจัดค่ายอักษร-ศิลป์ ที่มีประสิทธิผลอย่างแท้จริง

จากการดำเนินการจัดค่ายอักษร-ศิลป์ ในปีที่ 3 คณะดำเนินงานได้ทำการประเมินผลการบริหารจัดการค่ายจากผู้เข้าร่วมค่าย จากแบบสอบถามการประเมินผลกิจกรรมโครงการค่ายอักษร-ศิลป์ ปีที่ 3 จำนวน 30 ท่าน ประกอบไปด้วย คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นิสิต และนักศึกษาอาสาสมัครค่าย จากมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาทั้ง 4 แห่ง โดยประเมินการบริหารจัดการค่ายอังษร-ศิลป์ ในด้านต่าง ๆ

การประเมินการบริหารจัดการค่ายอังษร-ศิลป์ โดยคณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ แบ่งการประเมินออกเป็น 4 ด้าน คือ ด้านอาสาสมัคร ด้านปัจจัย ด้านกระบวนการ และด้านสภาพแวดล้อม ตามตารางดังต่อไปนี้

จากตารางสรุปผลการประเมินความพึงพอใจการบริหารจัดการค่ายอักษร-ศิลป์ ปีที่ 3 โดยคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ พบว่า ภาพรวมของระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.63 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.49) ของผู้ตอบแบบประเมินทั้งหมด

โดยประเด็นการประเมินที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ ประเด็นด้านกระบวนการ มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.73 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.42) ซึ่งประกอบไปด้วยประเด็นย่อยในการประเมิน ได้แก่ การศึกษาสภาพและการพัฒนา การกำหนดกรอบแนวคิดการศึกษา การศึกษาความต้องการของชุนชน การวางแผนดำเนินงานค่าย การปฏิบัติงานตามแผนงาน และหน้าที่ที่ได้รับผิดชอบ การดำเนินงานตามขั้นตอน การกำกับติดตาม การประเมินผลการดำเนินงาน การวิเคราะห์และพัฒนาการดำเนินงาน เป็นต้น

ประเด็นการประเมินที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ประเด็นด้านปัจจัย มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 4.33 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.58) ซึ่งประกอบไปด้วยประเด็นย่อยในการประเมิน ได้แก่ ความเหมาะสมของบุคลากรที่ร่วมการดำเนินงานค่าย และกลุ่มชุมชน งบประมาณสนับสนุนการดำเนินงาน วัสดุอุปกรณ์ และอาคาร สถานที่ที่ดำเนินงานค่าย

นอกจากนี้ คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ได้ให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อการจัดค่ายอักษร-ศิลป์ ปีที่ 3 ดังนี้

ข้อเด่นของค่าย

เป็นการดำเนินงานค่ายภายใต้ความร่วมมือของสถาบันการศึกษา โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านให้คำแนะนำ ปลูกฝังกลุ่มอาสาสมัครให้สามารถใช้ความรู้ความสามารถของตนเองเพื่อการบูรณาการองค์ความรู้ต่าง ๆ อย่างมีส่วนร่วม บนพื้นฐานของการเป็นอาสาสมัคร ทั้งยังส่งเสริมคุณลักษณะทางด้านจริยธรรม พัฒนาทักษะทางสังคม และการคิดในเชิงวิชาการอย่างเหมาะสม

ข้อด้อยของค่าย

การดำเนินงานค่ายกำหนดเป้าหมาย และกิจกรรมที่หลากหลาย แตกต่างกันในแต่ละด้าน ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ หรือกิจกรรมอาจไม่สอดคล้องเหมาะสมกับระยะเวลาการจัดค่าย ทำให้องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในค่ายส่งผลให้ผู้เข้าร่วมค่าย และชุมชนที่เกี่ยวข้องได้รับการเรียนรู้ แต่ไม่สามารถถ่ายทอดให้เกิดการเรียนรู้อย่างยั่งยืนได้ ประกอบกับ พื้นฐานทางภาษาที่แตกต่างกันของผู้ดำเนินงานค่าย และชุมชนที่ส่งผลต่อการเรียนรู้

การพัฒนาค่าย

เป็นการพัฒนาที่ส่งผลต่อการดำเนินงานในอนาคตของค่ายอักษร-ศิลป์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งพัฒนาตั้งแต่การสร้างความร่วมมือ และแนวคิดที่มุ่งพัฒนาชุมชน การกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาชุมชนที่ชัดเจนเพื่อเตรียมความพร้อมผู้ดำเนินงาน และอาสาสมัครให้สามารถบูรณาการองค์ความรู้และศาสตร์เฉพาะทางของตน เพื่อการพัฒนาชุมชนโดยไม่ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ การประเมินการบริหารจัดการค่ายอังษร-ศิลป์ปีที่ 3 โดยกลุ่มนิสิต นักศึกษาที่เป็นอาสาสมัครค่าย ได้ประเมินผลในส่วนของการบริหารจัดการค่ายในประเด็นที่แตกต่างจากกลุ่มคณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ ในประเด็นต่าง ๆ ตามตารางดังต่อไปนี้

จากตารางสรุปผลการประเมินความพึงพอใจการบริหารจัดการค่ายอักษร-ศิลป์ ปีที่ 3 โดยกลุ่มนิสิต นักศึกษาที่เป็นอาสาสมัครค่าย พบว่า ภาพรวมของระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.83 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.05) โดยประเด็นการประเมินที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ จากการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการฯ สามารถพัฒนาความรู้และทักษะต่าง ๆ มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 4.11 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.96) และประเด็นการประเมินที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ การประชาสัมพันธ์กิจกรรมโครงการฯ มีความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 3.39 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.98) ของผู้ตอบแบบประเมินทั้งหมด

นอกจากนี้ กลุ่มนิสิต นักศึกษาที่เป็นอาสาสมัครค่าย ได้ให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อการจัดค่ายอักษร-ศิลป์ ปีที่ 3 ดังนี้

ข้อเด่นของค่าย

ค่าย เป็นการดำเนินการที่มุ่งนำทักษะ ความรู้ความสามารถ ของนิสิตนักศึกษาที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านกิจกรรมศิลปสร้างสรรค์ ที่สะท้อนให้ผู้เข้าร่วมค่ายได้รับประสบการณ์ที่หลากหลายจากต่างสถาบัน ต่างวิถีชีวิต และต่างชุมชน ตลอดจนส่งเสริมให้เยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญของชุมชนให้ได้รับการพัฒนาในเรื่องต่าง ๆ เช่น การพัฒนาสุขภาพจิต สุขภาพกาย การใช้ชีวิต และการเข้าร่วมสังคมและชุมชนต่อไป

ข้อด้อยของค่าย

ระยะเวลาการดำเนินกิจกรรมค่อนข้างสั้น ซึ่งอาจมีผลต่อวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแผนงานค่ายที่ได้กำหนดไว้ ขาดการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลสำคัญต่อการพัฒนาแนวคิด วิธีการ และกระบวนการที่ถ่ายทอดให้แก่เยาวชนและชุมชนได้นำไปปฏิบัติได้อย่างยั่งยืน

การพัฒนาค่าย

มุ่งประชาสัมพันธ์และพลักดันให้สถาบันการคึกษาและมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเผยแพร่กิจกรรมค่ายที่ใช้กิจกรรมดนตรีเป็นแนวทางสำคัญ และมุ่งพัฒนาเยาวชนในชุมชนมีบทบาทมากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเป็นผู้นำและสร้างความตระหนักรู้ในด้านต่าง ๆ ต่อชุมชนของตนเองมากขึ้น โดยผู้เข้าร่วมค่ายอาจศึกษา เข้าร่วม และจัดค่ายในช่วงเทศกาลพื้นเมือง เพื่อศึกษาชุมชนจากวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยตรง ทำให้ชุมชนมีบทบาทเป็นผู้นำโดยตรง

คณะดำเนินงานได้ติดตาม ประเมินผล และพัฒนารูปแบบการประเมินให้ส่วนต่าง ๆ จากการดำเนินการจัดค่ายอักษร-ศิลป์ ในปีที่ 1 - ปีที่ 3 มาโดยตลอด เพื่อสะท้อนข้อมูลในเชิงลึกสำหรับการต่อยอดกระบวนการ และองค์ความรู้ของกิจกรรมให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องภายใต้แนวคิดการดำเนินงานค่ายอักษร-ศิลป์