Articles

การพัฒนาแนวคิดค่ายอักษร - ศิลป์ เพื่อน้อง
ภาษา ดนตรีและศิลปะแบบผู้คนมีส่วนร่วม

อาจารย์ ดร.ศุภพร สุวรรณภักดี

ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา


ผู้เขียนในฐานะกระบวนกร (facilitator) ได้มีโอกาสพัฒนากิจกรรมค่ายอักษร-ศิลป์ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ได้ปรับปรุงรูปแบบการดำเนินการทีละน้อยโดยหมายใจให้แนวคิดความเป็นอาสาสมัครที่เป็นนิสิตนักศึกษาทั้งเก่าใหม่ (volunteerism) กระตุ้นความคิดผ่านการตระหนักรู้ และการสร้างความเข้าใจในการดำเนินงานกับชุมชนผ่านแนวคิดทางภาษา ดนตรีและศิลปะ พร้อมทั้งการสร้างความเข้าอกเข้าใจให้แก่คนในชุมชน (symphathy) ให้แก่อาสาสมัครอย่างแยบคายที่นำไปสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างอาสาสมัครค่ายอักษร-ศิลป์ และโรงเรียน รวมถึงชุมชนในพื้นที่บ้านแม่ออกฮู ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ประเด็นที่สำคัญประการหนึ่งของกิจกรรมค่ายอักษร-ศิลป์นี้คือการออกแบบและพัฒนากิจกรรมที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) ในการดำเนินกิจกรรม

ปรากฏการณ์ค่ายอักษร-ศิลป์ เพื่อน้อง ในปีที่ 1 และ 2 พบว่า เกิดมิติในการพัฒนากิจกรรมที่ก้าวข้ามเส้นแบ่งระหว่างโรงเรียนชุมชน และกลุ่มอาสาสมัครค่ายอักษร-ศิลป์ โดยการดำเนินกิจกรรมปีที่ 2 ได้พัฒนาต่อยอดมายังการก้าวข้ามออกนอกพื้นที่ของโรงเรียนและสร้าง ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในชุมชนอย่างเห็นได้ชัดในการดำเนินกิจกรรมปีที่ 2 (พงษ์เทพ, 2562) ที่อาสาสมัครอักษร-ศิลป์ ได้เรียนรู้วิถีชีวิต แนวคิดในการดำรงชีวิต จากเรื่องเล่าและดนตรีพื้นบ้าน แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างในพื้นที่ภาคสนาม (field) ที่ช่วยให้สร้างกรอบความคิดและขอบเขตในการพัฒนางานจากข้อมูลภาคสนามจากการที่ได้สัมผัสอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมพื้นบ้านเชิงลึกผ่านดนตรีกลายมาเป็นนิยามความหมายจากการทำงานกับชุมชนเชิงสร้างสรรค์ ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติจริงอยู่ในพื้นที่ศึกษา (Kisliuk, 2008)

อาสาสมัครที่ได้เรียนรู้วิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านจากผู้คนในชุมชน นำมาพัฒนากิจกรรมให้กับนักเรียนในโรงเรียนถูกนำเสนอในช่วงการนำเสนอผลงานของกิจกรรมค่ายอักษร-ศิลป์ ซึ่งเป็นการส่งต่อในเชิงวัฒนธรรมที่กำลังเลือนหายไปจากชุมชน ดังเช่น บทเพลงร้องประกอบเครื่องดนตรีของชาวปกาเกอะญอ เต่หน่า หรือกาหน่าถูกถักทอเรื่องเล่าของพ่อเฒ่าแม่เฒ่ากลายเป็นละครชุมชนที่เป็นผลพวงจากการดำเนินกิจกรรมสร้างสรรค์ ทำให้ปรากฏความประทับใจให้กับผู้ชมซึ่งในที่นี้คือชาวบ้านในชุมชน อีกทั้งยังเปิดพื้นที่ให้แก่ชุมชนได้มีเวทีในการถ่ายทอดบทเพลงเก่าให้คนในชุมชนหวนคิดถึงวันวานของพ่อเฒ่าแม่เฒ่า จนกลายเป็นความอบอวลที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นในค่ำคืนนำเสนอผลงานในปีที่ 2

จากการศึกษาพบว่า การดำเนินงานกิจกรรมค่ายอักษร-ศิลป์ ปีที่ 2 กิจกรรมในค่ายมีการบูรณาการแนวคิด วิธีการดำเนินงานที่สร้างความร่วมมือระหว่างอาสาสมัครแต่ละมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมอย่างชัดเจน ที่แสดงให้เห็นได้จากกิจกรรมต้องอาศัยความชำนาญในด้านภาษา ดนตรี และเทคโนโลยี ทำให้สามารถพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาในแนวคิดทักษะในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการสื่อสาร ถึงแม้ว่าการดำเนินกิจกรรมของค่ายอักษร-ศิลป์ ปีที่ 2 มีความซับซ้อนมากกว่าปีแรก แต่อาสาสมัครนิสิตนักศึกษาได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในเชิงลึกทางวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวปกาเกอะญอมากยิ่งขึ้น (ศักดิ์ระพี, 2562) จากการพัฒนากิจกรรมค่ายอักษร-ศิลป์ ทำให้เกิดภาพการส่งต่อวัฒนธรรมผ่านดนตรีจากรุ่นพ่อเฒ่าแม่เฒ่าสู่รุ่นเด็กนักเรียนในโรงเรียน แสดงให้เห็นถึงการลบช่องว่างของช่วงอายุของคนในชุมชน และที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งคือการสร้างพื้นที่และโอกาสให้ชุมชนได้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้น ดังตามกรอบคิดในการดำเนินกิจกรรมที่ผู้เขียนได้ตั้งใจไว้


แนวคิดในการพัฒนากิจกรรมค่ายอักษร - ศิลป์ เพื่อน้องปีที่ 3 (พ.ศ. 2562)

การสื่อสารในรูปแบบของการทำงานข้ามวัฒนธรรม (cross-cultures) เป็นตัวกระตุ้นทางความคิดจากบริบททางวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมโดยรอบ ชี้ให้เห็นถึงองค์ประกอบที่สำคัญในการตกตะกอนความคิดทางด้านปรัชญา สังคม และจิตวิทยา ที่เกิดจากรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นอย่างไร และแต่ละคนนั้นเข้าใจอย่างไร ภายใต้บริบทในทางวัฒนธรรมดังกล่าว (Polyani, 2009) เห็นได้ชัดว่าเมื่ออาสาสมัครอักษร-ศิลป์ ได้รับรู้ข้อมูลทางวัฒนธรรม จากการลงปฏิบัติการเก็บข้อมูลในภาคสนามแล้ว การแบ่งปันข้อมูลที่นำไปสู่การหาข้อสรุปในระเบียบวิธีการเรียนรู้แบบปฏิบัติการ (action) ในที่สุดเกิดขึ้นในห้องเรียนอักษร-ศิลป์ ทำให้อาสาสมัครได้วิเคราะห์ข้อมูลในเชิงวิพากษ์ โดยการนำความรู้ที่ได้รับมาเชื่อมโยงกันทำให้เห็นความสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ ผ่านการวิเคราะห์ในรูปแบบของสหวิทยาการ (อานันท์, 2562)

จากแนวคิดในการดำเนินงานกิจกรรมค่ายอักษร-ศิลป์ ปีที่ 1 เป็นการดำเนินกิจกรรมกับครูและนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนจุฬา-ธรรมศาสตร์ 3 ในด้านกิจกรรมดนตรีและศิลปะสร้างสรรค์ผ่านการประพันธ์เพลงร่วมกันกับนักเรียนในโรงเรียน การปรับปรุงห้องสมุด การปรับปรุงห้องเรียนในระดับชั้นอนุบาล รวมถึงการประดิษฐ์สร้างสรรค์จากสิ่งของเหลือใช้หรือขยะ เรื่องราวต่าง ๆ ถูกนำเสนอผลงานของกิจกรรมให้กับชุมชนได้รับทราบถึงกิจกรรมของค่ายอักษร-ศิลป์ นำไปสู่การดำเนินงานในขั้นตอนหลังการดำเนินกิจกรรมค่าย (post production) ในรูปแบบการจัดทำเว็บไซต์ www.pgvim.ac.th/aksornsilpa ภายใต้การปรับปรุงโดยสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา รายงานเชิงวิชาการ และการนำเสนอผลงานทางวิชาการในระดับนานาชาติ เพื่อหาวิธีในการพัฒนากิจกรรมของค่ายอาสาสมัคร โดยหวังใจว่าจะสามารถเป็นแนวปฏิบัติที่ดีให้กับการทำงานอาสาสมัครแก่นิสิตนักศึกษาทางด้านภาษา ดนตรีและศิลปะ (Suwanpakdee & Pokthitiyuk, 2018) โดยได้รับข้อเสนอแนะให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมของค่ายอักษร-ศิลป์ มากขึ้น การเข้าถึงวัฒนธรรมพื้นถิ่นจะสามารถทำให้เกิดการส่งต่อทางวัฒนธรรมระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ โดยกิจกรรมในการดำเนินการต้องไม่สูญเสียเอกลักษณ์ในการทำงานสร้างสรรค์ อีกทั้งยังเกิดปฏิสัมพันธ์ในวงกว้างซึ่งได้แก่ ชุมชน โรงเรียน และกลุ่มคณะค่ายอักษร-ศิลป์ อีกด้วย ประเด็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการสร้างความยั่งยืนของการดำเนินกิจกรรมเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องของทุนสนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาชุมชนเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักถึงด้วย

ปีที่ 2 ของกิจกรรมค่ายอักษร-ศิลป์ ได้พัฒนาจากข้อเสนอแนะในการดำเนินกิจกรรมปีที่ 1 ในการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยอาสาสมัครเป็นผู้เรียนรู้วัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาษา ดนตรี และศิลปะ รวมถึงบริบทของชุมชนด้วย พร้อมกันกับการเริ่มสร้างเยาวชนผู้นำในชุมชน ในที่นี้คือ นักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จุฬา-ธรรมศาสตร์ 3 มาร่วมเรียนรู้ในการดำเนินงานกับนิสิตนักศึกษา เป็นการเชื่อมโยงที่จะทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชุมชนและอาสาสมัครค่ายอักษร-ศิลป์ มากขึ้น

อาสาสมัครนิสิตนักศึกษานำข้อมูลที่ได้รับมาแบ่งปันเพื่อพัฒนากิจกรรมสร้างสรรค์โดยมีนัยยะในการเชื่อมโยงผู้คนในชุมชนได้ตระหนักรู้ถึงความงดงามของวัฒนธรรมพื้นถิ่น ซึ่งทำให้อาสาสมัครได้พัฒนาความรู้ทางวัฒนธรรมที่ได้รับมาดำเนินกิจกรรมสร้างสรรค์โดยมิให้สูญเสียสาระสำคัญเดิมของวัฒนธรรม แต่ถูกนำเสนอในรูปแบบของการแสดงสร้างสรรค์ อาทิ ละครชุมชนที่มีเนื้อหาจากการตีความผ่านบทเพลง (interpretation) สู่การประพันธ์บทละครชุมชนที่มีเนื้อหาจากวัฒนธรรมในพื้นที่ของแต่ละกลุ่มโดยนิสิตนักศึกษา รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจโดยมีนิสิตนักศึกษาเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินกิจกรรมให้กับนักเรียน ดังแผนภาพที่ 1

ในช่วงการนำเสนอผลงานในปีที่ 2 นี้ได้เปิดพื้นที่ให้พ่อเฒ่าแม่เฒ่าได้เล่าเรื่องราวบนเวทีนำเสนอผลงานของค่ายอักษร-ศิลป์ ผ่านบทเพลงร้องประกอบดนตรีของชาวปกาเกอะญอจำนวนมากที่มีความหมายผ่านการดำเนินชีวิต ทำให้ผู้ชมในชุมชนเกิดความซาบซึ้งเป็นอย่างมาก บางบทเพลงในวันวานที่อาจจะกำลังถูกลืม จากเรื่องราวชีวิตของคนรุ่นเก่า ในบางชั่วขณะถึงขั้นเรียกน้ำตาแห่งความปรีติของคนในชุมชนด้วย ซึ่งชี้ให้เห็นว่า เกิดการส่งต่อเรื่องราวจากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ด้วยความแยบคาย และปราศจาอคติอย่างชัดเจน และที่สำคัญที่สุด คือการที่อาสาสมัครนิสิตนักศึกษาได้ลดทอนกำแพงกั้นในทางความคิดจากการทำงานด้วยที่มีทักษะเฉพาะทางที่แตกต่างกันในด้านภาษา ดนตรี และศิลปะ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการปลูกฝังความเป็นอาสาสมัครที่ดี (volunteerism) ในการสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนและสังคม (ศุภพร, 2562)

จากการวิเคราะห์ข้อมูลในการดำเนินงานในปีที่ 2 พบว่า ในการพัฒนาควรมองถึงการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลา อีกทั้งพื้นที่ที่ศึกษาสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังคงต้องช่วยกันพัฒนาต่อไป และควรมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้การสนับสนุนช่วยเหลือ ควบคู่ไปกับกิจกรรมสร้างสรรค์ที่พัฒนาในด้านความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมด้วย ที่ซึ่งเป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์ของค่าย ทำให้ขั้นตอนในการถ่ายทอดเรื่องราวผ่าน ขั้นตอนการดำเนินงานหลังกิจกรรมรายงานสรุปผลเป็นหนังสือจำนวนหนึ่งเล่ม ชื่อเรื่อง ค่ายอักษร-ศิลป์ เพื่อน้อง ปีที่ 2 โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จุฬา - ธรรมศาสตร์ 3 ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก และเพิ่มเติมข้อมูลลงในเว็บไซต์

จากการดำเนินงานของกิจกรรมค่ายอักษร-ศิลป์ ในปีที่ 1 และ 2 แสดงให้เห็นถึงเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในชุมชนอย่างเห็นได้ชัด ได้รับการไว้เนื้อเชื่อใจจากชุมชน จากการดำเนินงานสร้างสรรค์ผลงานผ่านกิจกรรมของค่ายจากวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ผ่านมา การเรียนรู้สองทางเป็นประโยชน์ให้กับชุมชนและกลุ่มอาสาสมัคร ทำให้การดำเนินงานในปีที่ 3 จำเป็นต้องมีความเข้มข้นด้วยเนื้อหา วิธีการดำเนินงานให้รัดกุมและ ในระยะเวลาในการดำเนินการปฏิบัติบนภาคสนามจริงที่จำกัด ทำให้ผู้เขียนและคณะทำงานในด้านกระบวนกร ซึ่งประกอบด้วยคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ได้สัมภาษณ์ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในด้านมานุษยวิทยา ในการพัฒนากิจกรรมค่ายอักษร-ศิลป์ปีที่ 3 ดังนี้

ดำรงค์ อดุลยฤทธิกุล ได้ให้ข้อเสนอแนะในด้านการพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืน โดยได้รับความกรุณาจากอาจารย์ในการติดต่อประสานงานในการวางแผนกับหน่วยงานภาคเอกชน ในด้านการเกษตรกรรม เพื่อสำรวจพื้นที่บริเวณโรงเรียนและหาความเป็นไปได้ในการดำเนินงานด้านเกตรกรรมช่วงหน้าแล้ง

อานันท์ นาคคง ให้ข้อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาการดำเนินกิจกรรมค่ายอักษร-ศิลป์ ปีที่ 3 การจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบสารคดีเป็นการดีในขั้นต่อไปของกิจกรรมค่ายอักษร-ศิลป์ เพื่อน้อง ที่จะเห็นมุมมองการเล่าเรื่องราววัฒนธรรมชุมชนผ่านนักเรียนในโรงเรียนหรือคนในชุมชนก็เป็นได้ อีกทั้งหากมีมุมมองที่ท้าทายในการนำนักเรียนจากโรงเรียนมานำเสนอผลงานในรูปแบบการแสดงหรือนิทรรศการจะเป็นการดีในการส่งต่อเรื่องราวของชาวปกาเกอะญอ ณ บ้านแม่ออกฮูด้วย

รัศมี ชูทรงเดช ให้ข้อเสนอแนะทางด้านมานุษยวิทยากับการดำเนินกิจกรรมค่ายอักษร-ศิลป์ เพื่อน้องปีที่ 3 ไว้ว่าเมื่อกิจกรรมค่ายอักษร-ศิลป์ ได้ดำเนินการพัฒนาในด้านปฏิสัมพันธ์กับชุมชนมาตั้งแต่เริ่มกิจกรรมตั้งแต่ขอบปีแรกแล้ว ควรพัฒนาการเข้าใจความสัมพันธ์ของคนในชุมชนจะทำให้เข้าใจบริบทในพื้นที่มากยิ่งขึ้น โดยได้แนะนำกิจกรรมในลักษณะการทำแผนที่ชุมชนจากกิจกรรมของค่ายอักษร-ศิลป์ ซึ่งจะนำไปสู่ข้อมูลในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ในชุมชนหรือหากสามารถพัฒนาต่อได้จะทำให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนในอนาคตก็เป็นได้

จากแนวคิดและข้อเสนอแนะทำให้ผู้เขียนได้วางแผนการดำเนินงานโดยพัฒนารูปแบบตั้งแต่ปีแรกในการดำเนินกิจกรรมโดยเสนอแนวคิดแบบจำลอง (model) ในการดำเนินกิจกรรมในปีที่ 3 อย่างเป็นรูปธรรม ดังแผนภาพที่ 2

1.การสร้างพี่เลี้ยง (mentor) จากศิษย์เก่าค่ายอักษร-ศิลป์ รุ่นที่ 1 และ 2

เมื่อเมล็ดพันธุ์แห่งความคิดในตัวของอาสาสมัครรุ่นที่ 1 และ 2 ที่ถูกหว่านไว้เริ่มเติบโต การสร้างความชำนาญให้แก่อาสาสมัครเพื่อให้มีโอกาส ทำงานอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ที่เป็นลักษณะห้องปฏิบัติการภาคสนาม ในการดำเนินกิจกรรมปีที่ 3 ได้พัฒนาแนวคิดอาสาสมัครของค่ายทั้งรุ่นเก่าและใหม่ให้มีความใกล้ชิดและสามารถให้คำปรึกษากับอาสาสมัครใหม่ให้มีความเข้าใจวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจกรรมของค่ายอักษร-ศิลป์ รวมถึงการนำกิจกรรมในรูปแบบสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพี่เลี้ยงมีความเข้าใจบริบทในชุมชนที่ศึกษา ทำให้การปฏิบัติงานศึกษาภาคสนามเป็นไปด้วยความราบรื่น จากการให้คำแนะนำกับอาสาสมัครใหม่โดยพี่เลี้ยงในการดำเนินกิจกรรม ในเรื่องของการระดมความคิด (brainstrom) การบริหารจัดการค่าย (camp conducting) การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ (workshops) และการนำเสนอผลงาน (showcasing

2.การสร้างกลุ่มผู้นำเยาวชนในพื้นที่ศึกษา (leadership students)

การสร้างกลุ่มผู้นำเยาวชนในพื้นที่ ตัวแทนนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียน เข้าร่วมดำเนินกิจกรรมพร้อมกับนิสิตนักศึกษา ร่วมกันแก้ไขปัญหาในการดำเนินงาน และเป็นตัวกลางในด้านการประสานงานกับชุมชน โดยพัฒนาต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 จากค่ายอักษร-ศิลป์ ปีที่ 2 โดยให้ความสำคัญในการสร้างเยาวชนในพื้นที่ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ทำให้กลุ่มผู้นำเยาวชนในพื้นที่ได้มีเวทีให้แสดงออกและสร้างความตระหนักรู้กับชุมชนให้แก่น้องนักเรียนในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี

3.การหารือความต้องการของชุมชน

การดำเนินงานสองปีที่ผ่านมาของกิจกรรมค่ายอักษร-ศิลป์ เพื่อน้องฯ ได้สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้แก่ชุมชนและโรงเรียน ทำให้การดำเนินงานในปีที่ 3 ควรรับฟังความต้องการของชุมชนเพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการเพื่อให้การดำเนินงานในปีต่อ ๆ ไป ได้เป็นไปตามความต้องการของชุมชนและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำเนินกิจกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับฟังจากผู้นำชุมชน ชาวบ้าน และครูที่โรงเรียน ซึ่งจะทำให้เกิดมิติในความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น ในการดำเนินกิจกรรมนี้ได้รับความกรุณาจาก ศรุพงษ์ สุดประเสริฐ เข้าร่วมศึกษาในเชิงพื้นที่และร่วมสังเกตการณ์การดำเนินงานของค่ายอักษร-ศิลป์ เพื่อน้องฯ เพื่อให้ความเห็นและมุมมองในการพัฒนาด้านการดำเนินกิจกรรมในปีนี้ด้วย

จากการหารือพบประเด็นที่สำคัญในภาพรวมโดยสังเขป ดังนี้

โรงเรียน ครูใหญ่ได้เห็นพ้องต้องกันกับคณะอักษร-ศิลป์ ในเรื่องฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่โดยการจัดให้เกิดห้องเรียนดนตรีพื้นบ้านปกาเกอะญอ โดยให้พ่อเฒ่า แม่เฒ่าในชุมชนเป็นผู้สอน โดยจะเริ่มนำร่องดำเนินงานในช่วงปีนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินกิจกรรมของค่ายอักษร-ศิลป์ ปีที่ 4 ในด้านชุมชน มีความต้องการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในเรื่องของความสะอาดของต้นน้ำ และการทำเกษตรในช่วงหน้าแล้งยังประสบปัญหาความไม่พอเพียงต่อการทำการเกษตรกรรม

4. การบริหารจัดการค่ายอักษร-ศิลป์

นอกจากกิจกรรมภายในค่ายแล้ว การดำเนินงานในด้านการบริหารจัดการค่ายอักษร-ศิลป์ เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ตลอดระยะเวลาในการดำเนินกิจกรรม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้นักเรียนในโรงเรียน และคณะอักษร-ศิลป์ ได้ดำเนินกิจกรรมไปด้วยความราบรื่น โดยได้รับความกรุณาจากคณาจารย์และเจ้าหน้าที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เป็นหัวแรงหลักในการประสานงานในการดำเนินกิจกรรม ทำให้การบริหารจัดการภายในค่ายในด้านของการเดินทาง อาหาร ที่พัก ฯ เป็นไปด้วยความราบรื่น อีกทั้งความร่วมมือในการดำเนินงานจากสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมเป็นอย่างดี

การบริหารจัดการค่ายอักษร-ศิลป์ ได้รับการประเมินการดำเนินงานโดยผู้เข้าร่วมค่าย ประกอบด้วย คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิต นักศึกษาที่เป็นอาสาสมัครค่าย จากมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาทั้ง 4 แห่ง พบว่า คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ ได้ประเมินการบริหารจัดการค่ายอังษร-ศิลป์ ในด้านต่าง ๆ แบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ ด้านอาสาสมัคร ด้านปัจจัย ด้านกระบวนการ และด้านสภาพแวดล้อม กลุ่มนิสิต นักศึกษาที่เป็นอาสาสมัครค่าย ได้ประเมินผลในส่วนของการบริหารจัดการค่าย เพื่อให้ได้ผลลัพธ์การดำเนินงานค่าย สำหรับการ พัฒนาคุณภาพ และประสิทธิภาพการบริหารจัดการค่ายต่อไป (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในบทวิเคราะห์ท้ายเล่ม)

ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากการดำเนินกิจกรรมในปีที่ 3 มีประเด็นที่สำคัญดังต่อไปนี้

กิจกรรมได้รับความสนใจจากชุมชนโดยรอบบ้านแม่ออกฮู ทำให้โรงเรียนและชุมชนอยากให้มีการเปิดกว้างทางกิจกรรมให้กับเยาวชนในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจร่วมกัน ความสมัครสมานสามัคคีของชุมชนโดยรอบผ่านกิจกรรมทางด้านภาษา ดนตรีและศิลปะของค่ายอักษร-ศิลป์ เพื่อน้องฯ

การพัฒนาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จุฬา - ธรรมศาสตร์ ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนและเป็นแบบอย่างที่ดีในการเก็บรวบรวมองค์ความรู้ของวัฒนธรรมพื้นบ้านปกาเกอะญอ ซึ่งจะเป็นการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมที่กำลังจะลบเลือนไปตามกาลเวลาให้สามารถธำรงไว้ซึ่งความงามของศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน

ถึงเวลาแล้วที่ค่ายอักษร-ศิลป์ เพื่อน้อง จะเปิดประตูให้กับนิสิตนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ ได้มีโอกาสสัมผัสกับประสบการณ์ในการทำงานอาสาสมัครในด้านภาษา ดนตรีและศิลปะ เพื่อปลูกฝังให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดีในการดำเนินกิจกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับทักษะที่นิสิตนักศึกษามีอยู่ และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนและสังคมต่อไป