Musique de la Vie et de la Terre
สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา จัดตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติในมงคลวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเจริญพระชนมายุ 84 พรรษา ในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อชาวไทยตลอดมา รวมทั้งเพื่อเป็นการสนอง พระปณิธานในการที่จะพัฒนาดนตรีคลาสสิกของประเทศไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมนานาชาติ ด้วยการพัฒนาบุคลากร ที่มีความสามารถพิเศษทางดนตรีคลาสสิกให้มีมาตรฐานระดับสากล รวมทั้งการส่งเสริมการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ และประสบการณ์ด้านดนตรีคลาสสิกที่ดี ให้กับสังคมไทย
นับตั้งแต่การได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าลงพระปรมาภิไธย ในพระราชบัญญัติสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา พ.ศ. 2555 ทางสถาบันฯ ได้มีการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การเป็นสถาบันการศึกษาทางด้านดนตรีที่มีความเป็นเลิศ พร้อมไปกับการเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ในการให้ความรู้กับประชาสังคม ตามปณิธานที่ว่า ดนตรีแห่งชีวิต ดนตรีแห่งแผ่นดิน (Musique de la Vie et de la Terre - Music of Life, Music of Land) อันกล่าวถึงคุณค่าของดนตรี ที่ มิเพียงแต่ครอบคลุมถึงดนตรีคลาสสิกในฐานะของความหรูหราและความงาม หากแต่รวมไปถึงดนตรีที่มีความละเอียดอ่อน เต็มไปด้วยชีวิต และนำไปสู่การพัฒนาเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ รวมทั้งสามารถเข้าไปอยู่ในจิตใจของผู้คนในทุกระดับชั้น ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจที่สองของสถาบันฯ ซึ่งได้กล่าวถึงการ เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านดนตรีและศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับสังคม สถาบันฯ จึงได้มีนโยบายที่จะดำเนินการโครงการจัดทำศูนย์การศึกษาเรียนรู้ดนตรีตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาการสร้างบทเรียนทางด้านดนตรีคลาสสิก ขึ้นมาควบคู่กับการจัดกิจกรรมบริการวิชาการทางด้านดนตรีคลาสสิก รวมไปถึงการนำเอาองค์ความรู้ที่เกิดจากการบริการวิชาการด้านดนตรีคลาสสิก เผยแพร่ให้กับเยาวชนและสาธารณชนทั่วไปในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเยาวชนที่ไม่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ทางด้านดนตรีคลาสสิกได้ เพื่อให้เยาวชนกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะเรียนรู้ถึงดนตรีคลาสสิกจากพื้นที่ของตนได้เท่าเทียมกับเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่อื่น
นอกจากนี้ โครงการศูนย์การศึกษาเรียนรู้ดนตรีตลอดชีวิต ยังได้ให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายสถาบันการศึกษา ทั้งที่มีการเรียนการสอนทางด้านดนตรีโดยตรง หรือทั้งส่วนที่มีการจัดการเรียนการสอนทางด้านดนตรีในหลักสูตรทั่วไป โดยจะเป็นการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ที่มีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านการเรียนการสอนดนตรีคลาสสิก การพัฒนาบุคลากร และการสร้างความร่วมมือทางด้านอื่นๆ ทั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนาการเรียนการสอนทางด้านดนตรีคลาสสิกในประเทศไทย สามารถเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน และเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย